ไม่พบผลการค้นหา
'ธนาธร' ตั้งข้อสังเกตโครงการเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ - กางแผนผังแบบจำลองโครงการแก้น้ำท่วมนครฯ ใช้งบสูง 9.5 พันล้าน แต่แก้ไขปัญหาไม่ได้

ที่ประชุม กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2564 ได้พิจารณางบประมาณของแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษา กมธ. ได้อภิปรายและให้ข้อเสนอแนะในการจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำแก่หน่วยราชการที่รับผิดชอบ ในโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุงและโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่าโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง ในปี 2564 มีการตั้งงบประมาณในกรมชลประทาน ซึ่งเป็นของงบประมาณปี 2564 เป็นจำนวนเงิน 130 ล้านบาท แต่เป็นงบผูกพันทั้งหมดตั้งแต่ปี 2564-2566 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 650 ล้านบาท โดยโครงการนี้มีปัญหาด้วยกันหลายประการ

อาทิ วันที่ 31 ส.ค. 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกรายงานการตรวจสอบ ซึ่งระบุว่าไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อนและให้จังหวัดและประชาชนร่วมกันหาทางออกในการจัดการน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่โครงการยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้และกรมอุทยาน และการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ IEE ยังไม่แล้วเสร็จก่อนการมาของบประมาณ นั่นหมายความว่ายังบูรณาการระหว่างหน่วยงานไม่เรียบร้อย แต่กลับมาตั้งงบประมาณจัดทำโครงการ

นอกจากนี้บริเวณโดยรอบของโครงการที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว พื้นที่โดยรอบมีอ่างเก็บน้ำอีกจำนวนถึง 3 แห่ง คือ แห่งแรกห่างไปอีก 2 กิโลเมตรมีที่กักเก็บน้ำคลองสะตอ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่ชำรุดและไม่มีการดูแลรักษา รวมถึงไม่มีการใช้ประโยชน์น้ำที่กักเก็บไว้ แห่งที่สองห่างไปอีก 3 กิโลเมตร มีอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน ที่ปัจจุบันโครงการสร้างเสร็จแล้วแต่มีปัญหาคือไม่ได้วางระบบส่งน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำแห่งที่สาม ห่างไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร มีฝายคลองท่ายูง โดยฝายท่ายูงสภาพทั่วไปมีสภาพชำรุดและขาดการดูแลรักษา

ส่วนแห่งที่สี่มีอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง ห่างออกไปประมาณ 14 กิโลเมตร ซึ่งสภาพของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้แม้จะสร้างเสร็จแล้วแต่ระบบส่งน้ำ ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จะเห็นได้ว่าในพื้นที่มีแหล่งเก็บน้ำอื่นๆ อยู่แล้วแต่ไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดีให้สามารถนำอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

อีกทั้งชาวบ้านแถวนั้นไม่ได้มีความจำเป็นในการต้องการน้ำเพิ่ม พื้นที่บริเวณแถบนั้นเป็นพื้นที่ปลูกสวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนยาง ที่มีการขุดแหล่งน้ำใช้เอง มีน้ำใช้ตลอดปี และพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากหรือเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก มีพื้นที่ในภาคอีสานอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการโครงการในการจัดการน้ำ การลำดับความสำคัญในการทำโครงการจึงมีความจำเป็น การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเหมืองตะกั่วที่ใกล้น้ำตกโตนสะตอ มีความเสี่ยงในการสูญเสียแหล่งน้ำ สูญเสียพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ถึง 468 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและเป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้าน รวมทั้งชาวบ้านก็ไม่ได้ต้องการแหล่งน้ำเพิ่ม อีกทั้งพื้นที่มีแหล่งเก็บน้ำที่เพียงพอแต่ขาดการบริหารจัดการและขาดการดูแลรักษา จึงนำมาสู่ข้อสรุปว่าตนขอเสนอให้ตัดโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว เนื่องจากไม่มีความจำเป็นในการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำแห่งใหม่ 

นอกจากนี้ ธนาธรยังอภิปรายเพิ่มเติมในส่วนของแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยกล่าวว่าสำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 9,580 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลใน 2 อำเภอ สิ่งที่เป็นข้อสังเกตคือโครงการนี้ในช่วงการศึกษาวางโครงการ การทำประชาพิจารณ์ผิดหลักการ

โดยมีการทำประชาพิจารณ์ทั้งหมด 3 ครั้งไม่มีการเปรียบเทียบทางเลือกไม่มีข้อดีข้อเสีย ไม่มีเรื่องของความคุ้มค่า อีกทั้งการทำโครงการที่ใหญ่ขนาดนี้ หากจะรู้ได้ว่าโครงการที่จะสร้างมีประสิทธิภาพหรือไม่ สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ วิธีที่ทำได้คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคือการทำแบบจำลอง (Modeling) ซึ่งตนได้ทำแบบจำลองมา 3 แบบ ใช้โปรแกรมซอฟแวร์ Hec-Ras Version 5.0.7 ที่พัฒนาโดย US Army Corps of Engineers ซึ่งได้ผลดังนี้ แบบที่ 1 ใส่ข้อมูลเหตุการณ์น้ำท่วมเดือนมกราคม 2560 แบบที่ 2 จำลองสภาพน้ำท่วมโดยใส่ข้อมูลน้ำท่วมปี 2554 และแบบที่ 3 ใส่ข้อมูลลงไปพร้อมทั้งใส่โครงการที่กำลังจะมีการจัดสร้างด้วยงบประมาณ 9,500 ล้านบาท แต่เมื่อทำแบบจำลองผลปรากฎว่าน้ำก็ยังท่วมอยู่ โครงการนี้ไม่สามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมได้

“ที่ผมเสนอมาทั้งหมดไม่ได้หวังร้าย และเข้าใจดีว่าโครงการนี้ทำไปแล้ว แต่อยากให้มีการคิดให้ละเอียดก่อน คิดโดยใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ นำข้อมูลเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการทั้งลุ่มน้ำหรือคิดโครงการน้ำ เพราะผมเชื่อว่าหากคิดทั้งหมดทีเดียวอาจไม่ต้องใช้งบประมาณถึง 9,500 ล้านบาท และผมเชื่อว่าทุกคนในประเทศไทยไม่ควรต้องเจอน้ำท่วมทุกปีๆ” โดยผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคือ วราเทพ รัตนากร แจ้งต่อกรรมาธิการและที่ประชุมว่า เราจะยังไม่มีการลงมติว่าจะตัดหรือไม่ตัด ขอว่าจะมีการลงมติในวันพุธที่ 26 ส.ค.ทีเดียวเมื่ออนุ กมธ.คณะต่างๆ มารายงานผล

อ่านเพิ่มเติม