ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยด้านสื่อออนไลน์ที่เก็บข้อมูลจากทั่วโลกในคน 93,000 ราย ของ 46 ประเทศพบว่า ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตัดสินใจปิดข่าวหนี เนื่องจากเนื้อหาที่ชวนให้เกิดอารมณ์ดิ่ง สร้างคำถามถึงการนำเสนอข่าวในแต่ละวันของแต่ละสำนักข่าวออนไลน์ในปัจจุบัน

สถาบันข่าวดิจิทัลของรอยเตอร์สเปิดเผยว่า ผู้คนจำนวนกว่า 4 ใน 10 หรือ 38% ระบุว่า พวกเขาตัดสินใจในหลายครั้งหรือบางครั้ง ที่จะหลีกเลี่ยงการเสพข่าว มากขึ้นจากตัวเลข 29% เมื่อปี 2560 โดยตัวเลขของประชาชนที่หลีกเลี่ยงการอ่านข่าวซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตลอด 5 ปีที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร 46% และบราซิล 54%

อย่างไรก็ดี ตัวเลขของผู้ตัดสินใจปิดข่าวหนีกว่า 36% เกิดขึ้นในกลุ่มประชากรต่ำกว่า 35 ปี โดยพวกเขาให้เหตุผลว่าข่าวเหล่านี้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจปิดข่าวหนีมากที่สุด

น้อยกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามในอัตรา 47% ระบุว่า พวกเขาสนใจที่จะเสพข่าวอย่างมากเมื่อเทียบกับ 67% ในปี 2558 นอกจากนี้ มีตัวเลขของผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งในอัตรา 43% ที่พวกเขาตอบแบบสอบถามว่า ตนตัดสินใจปิดข่าวที่นำเสนอข่าวซึ่งมีเนื้อหาผลักดันวาระซ่อนเร้น โดยเฉพาะเนื้อหาด้านการเมืองและโควิด-19

ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งซึ่งเป็นหญิงวัย 19 ปี ชาวสหราชอาณาจักรระบุว่า “พูดกันตามจริง ฉันไม่ค่อยชอบเสพข่าวกระแสหลักมากนัก ฉันรู้สึกว่าในบางครั้ง มันมีเนื้อหาซ้ำๆ และเป็นเรื่องแง่ลบ”

ปัจจัยสำคัญในการเลือกเสพข่าวคือความจริง โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 29% ระบุว่า พวกเขารู้สึกว่าข่าวหลายสำนักนำเสนอเนื้อหาที่ไม่น่าเชื่อถือหรือเต็มไปด้วยอคติ ในขณะที่ความน่าเชื่อถือต่อข่าวนั้นตกลงไปกว่าครึ่งในหลายประเทศที่มีการทำแบบสอบถาม เทียบกับเพียงแค่เจ็ดประเทศเท่านั้นที่มีอัตราที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อปีก่อน

อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากยังคงมีความเชื่อถือในสื่ออยู่มาก เทียบกับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าความน่าเชื่อถือของสื่อมีความสำคัญอย่างมากต่อประชาชน โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 42% ระบุว่า พวกเขาไว้ใจการนำเสนอข่าวของสื่อในส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 17% เลือกที่จะไม่เสพข่าว เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าข่าะนำไปสู่การถกเถียงกัน หรือทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจในอัตรา 16% ในขณะที่คนอีก 5% เลี่ยงการเสพข่าวด้วยเหตุผลทั้งสอง


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-61797444