ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนที่มาที่ไป ปมเงินกู้รัฐบาลเมียนมา 4,000 ล้าน ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 'ทักษิณ ชินวัตร' 3 ปี ไม่รอลงอาญา

วันนี้ (23 เม.ย. 2562) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแห่งรัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย กรณีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ Exim Bank อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลเมียนมาเมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นเหตุให้นายทักษิณถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่น เนื่องจากภายหลังรัฐบาลเมียนมาได้ซื้อขายสินค้ากับบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 400 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การให้ธนาคารอนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น จึงมีสั่งพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท โดยมีคำสั่งให้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา

สำหรับคดีดังกล่าวต้องย้อนไทม์ไลน์ดังนี้

ปี 2546 ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ รัฐบาล กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ได้ลงนามร่วมมือกัน เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ลุ่มน้ำอิระวดี - เจ้าพระยา – แม่โขง” หรือ ACMECS กระทรวงต่างประเทศไทยประกาศให้วงเงินกู้ (เครดิตไลน์คล้ายโอดี) แบบรัฐต่อรัฐ (G2G Loan) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศดังที่เคยทำมาหลายปีก่อนหน้าแล้ว ราวประเทศละ 100 ล้านเหรียญ ผ่าน EXIM Bank ของรัฐบาล ในกรณีชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ซื้อจากบริษัทไทยสำหรับโครงการสาธารณูปโภค เช่น ระบบขนส่ง ถนน สะพาน ชลประทาน โทรคมนาคม ผู้กู้ต้องเป็นหน่วยงานรัฐ รัฐบาลประเทศผู้กู้จะค้ำประกันการชำระคืนเงินกู้ (ไม่ใช่เงินช่วยเหลือให้เปล่า)

รัฐบาลนายทักษิณ ได้มีมติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 4 พันล้านบาทให้รัฐบาลพม่าในขณะนั้น โดยมีเงื่อนไขว่าทางการพม่าต้องเลือกซื้อสินค้าจากไทย ซึ่งในเวลาต่อมาประเด็นดังกล่าวได้ถูกนำมาโจมตีรัฐบาลนายทักษิณ โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนนำไปสู่การทำรัฐประหารเมื่อปี 2549

ปี 2549 หลังการรัฐประหาร ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นในวันที่ 30 ก.ย. 2549 โดย คตส. ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ในเรื่องที่ได้กระทำการให้รัฐเสียหายของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น หากพบการกระทำให้รับเสียหายจะยื่นเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

โดย คตส. ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณ โดยกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติเพราะใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์บริษัท เอไอเอส และ ชินแซทเทลไลท์ ในหลายกรณี ประกอบด้วย (1) ให้ทีโอทีลดส่วนแบ่งรายได้มือถือ (2) และปรับเกณฑ์การคำนวณ (3) ออกกฏหมายแปลงส่วนแบ่งรายได้เป็นภาษีสรรพสามิต (4) ให้ทีโอทีเช่าดาวเทียมทั้งที่ไม่จำเป็น (5) สั่งให้เอ็กซิมแบงค์ปล่อยกู้พม่าเพื่อซื้อดาวเทียม (6) เอาการเจรจาเอฟทีเอ เอื้อดาวเทียมแลกกับประโยชน์ของชาติ 

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงกรณีการซื้อบริการดาวเทียมไทยคม (และภายหลังไอพีสตาร์) ของรัฐบาลเมียนมานั้น เป็นการซื้อต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2541 และภายหลังจากได้รับเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ของไทย พม่าใช้ชำระค่าไอพีสตาร์ 9.5 ล้านเหรียญ (ราว 330 ล้านบาท) หรือราว 3 เปอร์เซ็นต์ของเงินกู้

ปี 2559 รัฐบาลเมียนมาชำระหนี้เอ็กซิมแบงก์จนหมดพร้อมดอกเบี้ย โดยนายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2561 ถึงกรณีโครงการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำมีวงเงิน 4 พันล้านบาทให้กับรัฐบาลพม่าว่า เมื่อปี 2546 ว่ารัฐบาลพม่าได้ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับธนาคารครบทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดถือว่า ธสน. ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ปกติในลักษณะเป็นการให้ความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนามากกว่า

ดำเนินคดีลับหลังจำเลย

สำหรับการดำเนินคดีนายทักษิณ ชินวัตรคดีนี้ นอกเหนือจากการตั้งคดีโดย คตส. แล้ว ยังอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษของ ปปช. โดยเมื่อปี 2560 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประกาศให้มีการพิจารณาคดีค้างเก่าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ที่สามารถนำกลับมาฟ้องใหม่ได้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 โดยยื่นคำร้องให้ศาลดำเนินคดีลับหลังจำเลยได้ ซึ่งรวมดังคดีปล่อยเงินกู้รัฐบาลพม่าด้วย