ไม่พบผลการค้นหา
ดร.ปริญญา เผยผลวิจัยปัญหา เลือกตั้ง 24 มี.ค.พบ ปชช.เลือกพรรคมากกว่าเลือกคน เกิดความขัดแย้งในพรรคการเมือง เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งใหม่

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลวิจัย เรื่องปัญหาของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และปัญหาการจัดการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กกต. ร่วมกันเก็บข้อมูลจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 3,250 คนใน 4 ภาคและจากผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 73 คนจาก 40 พรรคการเมือง

โดยพบปัญหาเกิดจากระบบเลือกตั้ง ปัญหาในการจัดการเลือกตั้งและปัญหาโครงสร้างบุคลากรและการตรวจสอบเลือกตั้ง อาทิ

  • การเกิดความขัดแย้งภายในพรรค ระหว่าง ผู้สมัคร ส.ส.เขต กับ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยจะมีมากในพรรคอนาคตใหม่ เพราะผู้สมัครแบบแบ่งเขต รู้สึกรับแบกรับภาระ ลงพื้นที่แต่ ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อกลับได้รับประโยชน์ เป็น ส.ส.
  • มีการซื้อเสียงเพิ่มขึ้นจากในอดีต แต่พฤติกรรมของคนไทยกลับเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแม้จะมีการซื้อเสียงมากขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน
  • การคำนวณ คะแนน ส.ส. ในระบบจัดสรรปันส่วน มีความยุ่งยากมีการกำหนดรายละเอียดวิธีการคำนวณที่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ และ กกต. ไม่ประกาศวิธีการคำนวณที่ชัดเจนให้ประชาชนทราบ และจะต้องคำนวณใหม่ทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ทำให้ ส.ส.บางคนได้รับผลกระทบต้องพ้นจากตำแหน่งจากผลการคำนวณที่เปลี่ยนแปลง
  • บัตรเลือกตั้งครั้งนี้ตัวอักษรเล็กเกินไป มีช่องกากบาท ที่ไม่ติดกับช่องหมายเลขทำให้คนกาผิดพลาดเกิดบัตรเสียสูงถึง 5.57%
  • มีการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร แบบจับสลาก ทำให้ผู้สมัครพรรคเดียวกันหมายเลขไม่เหมือนกัน สร้างความสับสนให้กับประชาชน และยังพบว่าการรายงานผลคะแนนคลาดเคลื่อนและล่าช้าเกินไป
  • ระบบเลือกตั้งนี้ทำให้มีผู้สมัครมากเกินไป เกิดปัญหาการตรวจสอบ เช่นปัญหาวุฒิการศึกษา ไม่ถูกต้อง

สำหรับการผลสำรวจประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า

  • ประชาชนเข้าใจระบบเลือกตั้งเพียง 14.26% ไม่เข้าใจ 25.03% พอเข้าใจ 60.71%
  • ประชาชนเชื่อมั่น ต่อ กกต. ในการจัดเลือกตั้ง 52.73% ไม่เชื่อมัน 47.27%
  • ประชาชนส่วนใหญ่ 46.94% ตัดสินใจเลือกพรรคมากกว่าเลือกตั้ง ส.ส. เขต โดยเลือกจาก ส.ส. เขตเพียง 17.97%

ดร.ปริญญา เสนอให้มีการแก้ไขระบบเลือกตั้งใหม่ โดยอาจกลับไปใช้ระบบเดิมแบบ รัฐธรรมนูญ 2540 ในระบบคู่ขนาน ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อแยกกัน หรือ ระบบเลือกตั้งเยอรมันไปเลย พร้อมกล่าวโดยสรุปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหามาก เกิดจากระบบเลือกตั้ง ที่มีการนำ ส.ส.เขตมาคำนวณ เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

"โดยสรุปการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เป็นการเลือกตั้งที่มีปัญหามาก ซึ่งปัญหานั้นเกิดจากตัวระบบเลือกตั้งที่ใช้คะแนนแบบแบ่งเขตมาคิด ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และซ้ำยังให้มีการจับหมายเลขทุกเขตเลือกตั้งที่เป็นที่มาของปัญหาทั้งหมด"

"ผมคิดว่าควรมีการแก้ไขปัญหา ถ้าจะพูดถึงในแง่ของการทำให้สำเร็จก็ต้องเอาเรื่องที่ทำง่ายก่อน คือ การปรับปรุงบัตรเลือกตั้งเพื่อให้บัตรเสียน้อยลง และการปิดหีบที่ควรให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม เป็นต้น และควรดำเนินการในบางประการก่อนจะมีการเลือกตั้งต่อไป เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งครั้งหน้าต้องมีปัญหาเหมือนในคราวนี้" นายปริญญา กล่าว