ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางครั้งที่ 2 ขณะช่วงบ่ายเตรียมหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

วันนี้ (26 เม.ย.62) เวลา 6.15 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยา เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางครั้งที่ 2 (Belt and Road Forum for International Cooperation – BRF) ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2562 โดยมีนางหลิว ยู่ฟาง รองเลขาธิการสภาประชาชนกรุงปักกิ่ง รอให้การต้อนรับ โดยพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงภารกิจสำคัญของนายกรัฐมนตรีดังนี้


198036.jpg

เวลา 8.00 น. นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการประชุมฯ ณ โรงแรมที่พัก 


S__125149199.jpg

จากนั้นเวลา 9.30 น. นายกรัฐมนตรีจะร่วมพิธีเปิดการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางครั้งที่ 2 และกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมระดับสูง (High-Level Meeting) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติจีน โดย นายหาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ

ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะได้พบหารือทวิภาคีกับผู้นำระดับสูงของจีน ได้แก่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน โดยในช่วงค่ำ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และภริยา จะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมฯ และคู่สมรส ณ มหาศาลาประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หัวข้อหลักของการประชุม BRF ครั้งที่ 2 คือ Belt and Road Cooperation: Shaping a Brighter Shared Future ซึ่งจะมีผู้นำจาก 38 ประเทศเข้าร่วม โดยจะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทุกมิติ รวมทั้งการเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยประเด็นที่นายกรัฐมนตรีจะผลักดันในที่ประชุม มีดังนี้

 1. เน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ผ่าน MPAC 2025 และ ACMECS Master Plan ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับ BRI บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความโปร่งใส การเปิดกว้างและครอบคลุมทุกภาคส่วนและการเคารพกฏหมายระหว่างประเทศ

 2. ขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค และการยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ คมนาคม และการขนส่งของอาเซียน และเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน

 3. ผลักดันให้จีนใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ ACMECS ในการเป็นตัวเชื่อมจีนและอาเซียน และส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area - GBA) และกรอบความร่วมมือพื้นทีสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan - Pearl River Delta - PPRD) กับ EEC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :