ไม่พบผลการค้นหา
เลือกตั้งผ่านพ้นไป 2 เดือนเศษ การเมืองไทยยังไร้ทิศทาง การจัดตั้งรัฐบาลผสมเกือบ 20 พรรค ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้รัฐธรรมนูญออกแบบมา 'เพื่อเรา' แต่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน เกิดความระแวงในหมู่พันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลจะพลิกผันได้หลายหน้า

สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ค. ยังไร้ความชัดเจนจาก 'เจ้าบ่าว' พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 'เจ้าสาว' อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังไม่ตกลงในสินสอดทองหมั้น เมื่อกระทรวงพานิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดีลหลักถูกชักกลับ 

โดมิโนเริ่มล้มใส่ 'ภูมิใจไทย' เสี่ยหนู ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตั้งเงื่อนไขพร้อมตีกรรเชียงถอยห่าง ถ้าเสียพรรคประชาธิปัตย์ เท่ากับลบ 53 เสียงในขั้วรัฐบาลพลังประชารัฐไปต่อไม่ได้

เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ไปต่อไม่ได้ ลำพังเสียงปริ่มน้ำ 254 ก็เล่นเอาหืดจับ ผ่านกฎหมายแต่ละฉบับยังแตกแถวไม่ได้ แล้วนี่ไม่ถึง 251 ต้องกว้านซื้องูเห่ากี่เล้าถึงจะพอ 

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ก็ออกลูกงอแง เป้าหมายอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ ไม่ต่างกัน ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ แกนนำพรรคประกาศลั่นพร้อมตีจากไปอีกราย 

วราวุธ ศิลปอาชา - ชาติไทยพัฒนา

อาการงอแง งัดข้อของพรรคตัวแปรตั้งรัฐบาล ทำให้ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ แกนนำ พปชร. ประกาศลั่นไม่สนเจ้าสาวเล่นตัว พร้อมเดินหน้าตั้งรัฐบาล มั่นใจ 250 ส.ว.ลากตั้ง พร้อมเทเสียงส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกครั้งไม่รอผลต่อรองจัดสรรรัฐมนตรี ส่วนเสียงข้างน้อยอยู่ไม่ได้ ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ 

แต่ยี่ห้อพรรคประชาธิปัตย์ก็อย่างที่รู้ วันแรกเปิดสภา โชว์ลูกเขี้ยวเซียนเหยียบเมฆเป็นขวัญตา ‘ชวน หลีกภัย’ อดีตนายกฯ เข้าวินนั่งประธานรัฐสภา เมื่อมุมน้ำเงินเข้าคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เท่ากับถือไพ่เหนือกว่า 

52 เสียงประชาธิปัตย์ได้เพิ่มจาก ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกเสียงเป็น 53 เสียง ไม่ใช่ปัญหา 116 เสียงของ พปชร. ที่ต้องคอยฟัง จึงเห็นท่าทีอันเหนือชั้น ยืนยัน 'กระทรวงพานิชย์-กระทรวงเกษตรฯ' เท่านั้นไม่เปลี่ยนแปลง 

พรรคพลังประชารัฐต้องยอมรับว่าเสียท่า กลุ่ม ขั้ว มุ้ง ภายในไม่พอใจสัดส่วน รมต.-รมช.

โดยเฉพาะ 'กลุ่มสามมิตร' วืดส่ง ‘สุชาติ ตันเจริญ’ นั่งประมุขรัฐสภาแล้ว อาจจะวืดเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์อีกนั้นยอมไม่ได้

สมศักดิ์ สุชาติ สามมิตร ณัฏฐพล พลังประชารัฐ

‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ย่อมสู้ไม่ถอย เคยส่งสัญญาณให้คนกันเองเห็นชัด เมื่อครั้งลงมติในญัตติเลื่อน -ไม่เลื่อนเลือกประธานสภาฯ 

เพราะเพียง 4-5 เสียงที่หายไปก็พังภารกิจต่อท่ออำนาจ คสช.ได้เหมือนกัน  

พรรคพลังประชารัฐไม่เพียงแต่เจอข้อต่อแบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรีจากพรรคขนาดกลาง

เพราะท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเงื่อนไขเด็ดขาดในการเข้าร่วมรัฐบาล พปชร.ต้องร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วก็อย่างที่เห็น ออกอาการกันพัลวัน ชักเข้าชักออก ยึกยัก ไม่ตอบรับแต่ก็ไม่กล้าปัด เพราะรัฐธรรมนูญคือกล่องดวงใจที่หวังใช้รักษาอำนาจ คสช.ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต 

ยิ่งใกล้เปิดประชุมรัฐสภา เลือกนายกฯ คนหน้าเดิม พปชร.ยิ่งไร้แต้มต่อรอง เกมการเมืองในกระดานสัดส่วนเก้าอี้ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ

เสียงประชาชนนอกสภายังร่ำร้อง ทวงถามหาสัจจะวาจา ไม่ว่าจะเป็น เสี่ยหนู หรือ อดีตหัวหน้ามาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศจุดยืนกันชัดๆ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ นั้นจะทำอย่างไร 

อุตตม-อนุทิน-พปชร.จับมือภท.-พปชร-ภูมิใจไทย-จัดตั้งรัฐบาล

ยิ่งการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเปิดเผยกลางสภาใช้วิธีขานชื่อรายบุคคล ยังไม่นับกระแสขู่ปล่อยฟรีโหวต ซึ่งกระแสว่า 20 เสียงประชาธิปัตย์พร้อมโหวตไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าดีลกันไม่จบก็รับรองว่า ดูไม่จืด 

นี่คือ ความไร้เสถียรภาพในซีกพรรคสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ทำให้เห็นภาพแย่งชิงอำนาจภายในขั้วเดียวกันเองตั้งแต่ยังไม่ได้ตัวนายกฯ

ต่างจากซีก 7 พรรคคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างสิ้นเชิง ยังคงความเป็นเอกภาพ ยืนยันยึดมั่นในอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยอย่างมั่นคง เพราะตั้งต้นด้วยจุดยืนอันแนวแน่ ไม่ใช่ผลประโยชน์เพื่อคนไม่กี่คน แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีแตกแถวไปบ้างในวันโหวตเลือกประธานสภา

ด้วย 246 เสียง จึงขาดอีกเพียง 5 เสียง ก็จะเกินกึ่งหนึ่งในสภาล่าง ซึ่งพร้อมอ้าแขนเปิดรับทุกพรรคทุกคนที่พร้อมจะทวงคืนอำนาจจาก คสช. ประตูปูทางร่วม ปชป.ที่ยังไร้ข้อตกลงกับ พปชร.ก็ยังเปิดอยู่ เสียงสะท้อนพร้อมเป็นขั้วที่ 3 ในการจัดตั้งรัฐบาลเริ่มดังขึ้นทุกขณะ 

สถานการณ์ทางการเมืองในตอนนี้ จึงหวนกลับมาเป็น 3 ขั้วอีกครั้ง ขั้ว 7 พรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. นำโดยเพื่อไทย 136 เสียง อนาคตใหม่ 81 เสียง เสรีรวมไทย 10 เสียง ประชาชาติ 7 เสียงเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง เพื่อชาติ 5 เสียง และพลังปวงชนไทย 1 เสียงรวม 246 เสียง 

ขณะที่ขั้ว 16 พรรคสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. 16 พรรค นำโดย พปชร. 116 เสียง ภูมิใจไทย 51 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พลังท้องถิ่นไทย 3 เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และพรรคจิ๋ว 11 พรรค รวม 188 เสียง

และขั้วไม่ชัดเจน 3 พรรคคือ ประชาธิปัตย์ 53 เสียง ชาติไทยพัฒนา  10 เสียง และชาติพัฒนา 3 เสียง รวม 66 เสียง 

สมการการจัดตั้งรัฐบาลจึงยังคงไม่นิ่ง ทุกสิ่งยังคงเกิดขึ้นได้ตลอดจนกว่าจะถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี