ไม่พบผลการค้นหา
คมนาคมเจรจาแท็กซี่ เคาะค่าโดยสารเริ่มต้น 35 บาท อนุมัติปรับขึ้น กม. ที่ 1-10 จากกม. ละ 6 บาทเป็น 6.50 บาท เปิดทางเก็บค่าเซอร์ชาร์จแท็กซี่สุวรรณภูมิเป็น 70 บาท จากเดิม 50 บาท โดยมีผลอย่างช้าไม่เกิน 15 ต.ค. นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก หารือผู้ประกอบการแท็กซี่และแท็กซี่สุวรรณภูมิ เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ โดยก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมรับเรื่องและให้กรมการขนส่งทางบกทำรายละเอียด 1 เดือน โดยผู้ประกอบการสรุปข้อเรียกร้องเหลือ 4 ข้อ คือ ขอปรับขึ้นค่าโดยสาร เพื่อลดภาระการขอยกเลิกใช้แท็กซี่ OK ที่มีการเก็บค่าใช้ระบบจากผู้ขับรายเดือนคนละ 350 บาท การขอขยายอายุจดทะเบียน จาก 9 ปี เป็น 12 ปี รวมทั้งขอขึ้นค่าเซอร์ชาร์จและค่าขนสัมภาระของแท็กซี่ที่วิ่งให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

โดยหลังการหารือได้ข้อสรุปทั้ง 2 ฝ่าย ที่ผู้ประกอบการแท็กซี่และกรมการขนส่งทางบกที่ทำข้อมูลมา โดยในส่วนค่าโดยสารที่เก็บตามมิเตอร์นั้น ค่าโดยสารเริ่มต้นปัจจุบันเก็บ 35 บาท ขอเป็น 40 บาทนั้น ส่วนนี้จะยังคงไว้ที่ 35 บาท แต่จะอนุมัติให้ปรับขึ้นสำหรับค่าโดยสาร กม.ที่ 1-10 จาก กม.ละ 6 บาท เป็น 6.50 บาท

ส่วนค่าโดยสารที่เก็บตามมิเตอร์ตั้งแต่ กม.ที่ 10-20, 20-40, 40-60, 60-80 และ 80 กม.ขึ้นไปยังคงเก็บอัตราเดิม นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้ปรับราคาในส่วนของมิเตอร์ ที่คำนวณค่าโดยสารในช่วงที่รถเจอสภาพการจราจรติดขัด ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 6 กม./ชั่วโมง ในส่วนนี้ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารจากกิโลเมตรละ 2 บาทเป็น 3 บาทด้วย

ส่วนค่าเซอร์ชาร์จแท็กซี่สุวรรณภูมินั้น จะอนุมัติให้ปรับจาก 50 เป็น 70 บาท และค่าขนกระเป๋าสัมภาระก็จะอนุมัติให้เก็บใบละ 20 บาท ความกว้าง 26 นิ้วขึ้นไป ตั้งแต่ใบที่ 3 

ทั้งนี้ การปรับราคาค่าโดยสารดังกล่าวจะมีผลภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ผู้ประกอบการแท็กซี่ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอให้ภาครัฐ โดยกรมการจนส่งทางบกพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ทดแทนแท็กซี่ OK ซึ่งผู้ประกอบการขับรถระบุว่าต้องเสียค่าดำเนินการเข้าสู่ระบบกว่า 30,000 บาท และต้องจ่ายเดือนละ 350 บาทต่อคันด้วย ซึ่งเรื่องนี้นายศักดิ์สยาม ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกทำการพัฒนาแอปฯ ภายใน 1 เดือน หรืออย่างช้าไม่เกิน 15 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่จะอนุมัติให้ผู้ขับแท็กซี่ปรับราคาตามข้อเรียกร้องที่ตกลงร่วมกันวันนี้ด้วย

รมว.คมนาคม ยังระบุด้วยว่าสำหรับแท็กซี่ OK จะให้มีการยกเลิกและผู้ประกอบการเสียค่าการใช้ระบบ 350 บาทต่อคันเป็นเดือนสุดท้าย หลังจากนั้นจะไม่มีการเก็บอีก โดยขอให้ผู้ประกอบการขับรถไปใช้แอปฯ ตัวใหม่แทน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่กระทรวงคมนาคมอนุมัติให้แก่ผู้ประกอบการกรณีแท็กซี่ VIP ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกออกกฎหมายบังคับให้ผู้ที่จะให้บริการจะต้องทำการจดทะเบียนในนามนิติบุคคลเท่านั้น แต่วันนี้จะอนุมัติให้บุคคลธรรมดาสามารถจดทะเบียน เพื่อให้บริการแท็กซี่ VIP ได้ เพียงแต่ต้องพัฒนามาตรฐานรถที่จะนำมาใช้จดทะเบียนตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ รวมถึงประเด็นผู้ประกอบการขอยืดอายุการใช้งานรถแท็กซี่ในระบบจาก 9 ปี เป็น 12 ปี กระทรวงคมนาคมอนุมัติให้ โดยมีเงื่อนไขว่า หลังจากนี้การตรวจสภาพแท็กซี่ที่ให้บริการจะเข้มข้นตั้งแต่ปีแรก โดยรถคันใดไม่ผ่านแม้จะจดทะเบียนปีแรกก็ต้องออกจากระบบ

ส่วนกรณีข้อเรียกร้องที่ผู้ประกอบการขอให้ดำเนินคดีกับบริษัทแกร็บนั้น กรมการขนส่งทางบกนำหลักฐานให้แท็กซี่ทราบว่าเคยมีการแจ้งดำเนินคดีกับบริษัทในข้อหาเชิญชวนให้ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนรถสาธารณะมาวิ่งให้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งการดำเนินคดีดังกล่าวได้ปรับไปแล้ว 4,000 บาท เป็นโทษปรับที่กฎหมายกำหนดเพียงเท่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :