ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์รัฐเผยมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ดันสินเชื่อบ้านจากชะลอโตเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมตลาดยังเหลือขายกว่า 2 แสนหน่วย จับตาปีหน้าเป็นไปได้อย่างหวังหรือไม่

ในงานเสวนา 'ปลุกกำลังซื้อ ฟื้นพลังเศรษฐกิจ จุดพลุอสังหาฯ พาไทยติดปีก' นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสปี 2562 ตัวเลขเปิดขายที่อยู่อาศัยใหม่ลดลงร้อยละ 6.83 ส่วนยอดขายลดลงร้อยละ 7 ขณะที่คอนโดมิเนียมลดลงร้อยละ 9 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลเหลือขายกว่า 2 แสนยูนิต ส่งผลให้ยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบลดลงจาก ร้อยละ 8.7 เหลือร้อยละ 6.2 ดังนั้นการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ถือว่าเหมาะสม เพราะหากไม่เร่งดูแลจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งเรื่องแรงงาน สังคม เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของจีดีพี หรือมูลค่ากว่า 4.25 แสนล้านบาท และหากรวมธุรกิจต่อเนื่องจะสูงถึงร้อยละ 20 ของจีดีพี

5862.jpg

5 ล้านครัวเรือนยังไร้บ้าน

นายชาติชาย เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีจำนวนประมาณ 15 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้ 10 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 72.5 มีที่อยู่อาศัยของตัวเอง ขณะที่ 5 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 15.9 ล้านคนยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง แบ่งเป็นกลุ่มรายได้ปานกลาง 1.4 ล้านครัวเรือน และกลุ่มที่มีรายได้น้อยประมาณ 3.6 ล้านครัวเรือน และอีก 60,000 ครัวเรือนเป็นคนที่ไม่มีรายได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีการกระตุ้นให้คนไทยที่เหลือ 5 ล้านครัวเรือนมีที่อยู่อาศัยให้ได้มากขึ้น

5867.jpg
  • ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

เซลล์บ้าน-คนซื้อ สุมหัวกู้บ้านเกินราคา สร้างหนี้ไม่มีคุณภาพ

นายชาติชาย แนะว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมจะต้องระมัดระวังในการเปิดขายโครงการใหม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา 3 ไตรมาสปี 2562 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อที่ออยู่อาศัยในภาพรวมปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างแปลกประหลาด ซึ่งสาเหตุหลักมาจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการแจ้งยอดเงินกู้สูงกว่าราคาที่อยู่อาศัยจริง ทำให้เกิดหนี้ที่ไม่เกิดคุณภาพ

“หนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยหลักมากจากรวมหัวกันของตัวแทนขายบ้านและผู้ซื้อแจ้งขอสินเชื่อในราคาที่สูงกว่าราคาบ้านจริงทำให้เงินกู้ที่ปล่อยไปไม่มีคุณภาพเป็นหนี้ที่ไม่ดี ดังนั้นจึงฝากถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เพื่อช่วยสถาบันการเงินด้วย” นายชาติชาย กล่าว

5865.jpg
  • ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

เศรษฐกิจชะลอ ทำยอดสินเชื่อต่ำ

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยอมรับว่า สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของ ธอส. ปรับตัวลดลงจากปกติที่สามารถปล่อยเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านบาท เหลือเพียง 14,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาสามารถปล่อยเพิ่มขึ้นได้เป็น 20,000 ล้านบาทตามภาวะปกติ ทำให้ ธอส.มั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ 203,000 ล้านบาทซึ่งขณะนี้สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 190,800 ล้านบาท และปีหน้าคาดการณ์ว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงกว่าปีนี้ประมาณร้อยละ 3 หรืออยู่ที่ 209,000 ล้านบาท

5863.jpg
  • พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

บ้าน-คอนโด ยังเหลือขายเกิน 1 แสนหน่วย

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย คาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2562 จะมีจำนวนหน่วยเหลือขายในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งสิ้น 149,000 หน่วย และคาดการณ์ปี 2563 แม้จะลดลงจากปีนี้ประมาณร้อยละ 6.7 แต่ยังมีจำนวนหน่วยเหลือขายกว่า 139,000 หน่วย

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจะช่วยให้อุปทานเหลือขายสะสมในตลาดถูกดูดซับออกไปบางส่วนจนสามารถปรับสมดุลให้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่จำนวนเหลือขายเฉลี่ย 138,720 หน่วยได้ ดังนั้นยังเชื่อว่าทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 5 และมีจำนวนโครงการเปิดใหม่ใกล้เคียงจาดยอดการเปิดใหม่ในปีนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์จะสามารถขยายตัวได้ตามที่คาดากรณ์ไว้ได้หรือไม่ คงต้องรอติดตามต่อ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการะตุ้นออกมาเพื่อสนองให้คนไทยมีบ้านได้ไวขึ้น เร็วขึ้น แต่กำลังซื้อที่อยู่ในกระเป๋าของประชาชนกลับไม่ได้สูงเพียงพอให้มีอำนาจซื้อที่อยู่อาศัยได้ ขณะเดียวกันหนี้เสียที่กำลังสูงขึ้นก็เป็นข้อจำกัดให้สถาบันการเงินสกรีนผู้กู้เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นจะได้ผลหรือไม่ได้ผล ยังคงรอต้องรอประเมินอีกครั้ง