ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนร้านนวด ร้านสปา ร้องขอนายกฯ ผ่อนผันให้เปิดบริการได้ แจงไม่ได้รับความเป็นธรรม โควิดรอบแรกถูกปิดก่อน-เปิดทีหลัง

ตัวแทนสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย นำโดย พิทักษ์ โยทา เข้ายื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ศบค. ผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยเรียกร้องให้ผ่อนผันให้ร้านนวดร้านสปาเปิดบริการได้ หลังกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โควิด-19 โดยยืนยันที่ผ่านมาร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านสปา ได้ ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง จำกัดผู้ใช้บริการบริการและไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด จึงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาเป็นกลุ่มแรกที่ถูกสั่งปิด และให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย

ปัจจุบันร้านวด ร้านสปา ทั่ว กทม. มี 1,700 ร้าน ส่วนทั่วประเทศมี 15,000 ร้าน ปิดถาวรไปแล้ว 11,280 ร้าน เพราะไม่มีทุนไปต่อ เหลือเพียง 4,000 กว่าร้าน ก็ทำตามมาตรฐานทุกอย่าง ดังนั้นอยากให้รัฐบาลผ่อนผันให้เปิดบริการเพื่อให้พนักงานมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว แต่หากไม่ผ่อนผัน ก็เรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา หรือออกคำสั่งยกเว้นค่าเช่าตึก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะที่ผ่านมาการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งเรื่องเงินกู้ซอฟโลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง ก็ไม่สามารถเข้าถึง


รบ. แจงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ไม่เสียสิทธิ์จองใหม่

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีข้อร้องเรียนของประชาชน ในการเลื่อนการจองที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แล้วปรากฏว่าทางโรงแรมแจ้งว่า ถือเป็นการเสียสิทธิ์ร่วมโครงการในครั้งต่อไปนั้น ขอเรียนว่า ผู้เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่มีการเลื่อนการจองที่พักออกไป หรือยกเลิกการจอง

รวมถึงการจองห้องพักแต่ไม่ได้เข้าพัก ต่างยังคงได้รับสิทธิ์ส่วนลด 40 เปอร์เซ็นต์เช่นเดิม โดยไม่เสียสิทธิ์แต่อย่างใด ขณะนี้ธนาคารกรุงไทย กำลังแก้ไขระบบเพื่อรองรับการเลื่อน หรือยกเลิกการจองที่พักดังกล่าว เมื่อมีการเลื่อนจองห้องพัก โรงแรมสามารถรับเรื่องไว้ได้ก่อน และขอให้โรงแรมดำเนินการแจ้งการเลื่อนในระบบต่อไป เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่

ไตรศุลี กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ รัฐบาลจึงขอความร่วมมือสมาคมโรงแรมไทยและผู้ประกอบการโรงแรมที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันทุกแห่ง รวมถึง Online Travel Agency (OTA) ที่เข้าร่วมโครงการให้พิจารณาการช่วยรักษาสิทธิ์ในรูปแบบการคืนเงิน หรือการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์

โดยการออก Voucher ของโรงแรมให้แก่นักท่องเที่ยวไว้กลับมาใช้บริการภายหลัง สำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้ชำระเงินไปแล้ว โดยที่การคืนเงินหรือการขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์นี้ ระบบจะไม่ตัดสิทธิ์การใช้ห้องพักของนักท่องเที่ยว และคืนสิทธิ์เข้าสู่ระบบของโครงการฯ เพื่อให้นักท่องเที่ยวคนอื่นได้ใช้สิทธิ์ต่อไป

สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 7.3 ล้านคน ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,514 แห่ง โดยรวมมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขยายระยะเวลาโครงการฯออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564

อ่านเพิ่มเติม