ไม่พบผลการค้นหา
Netflix เตรียมฉายสารคดี ‘บริทนีย์’ ตีแผ่เรื่องราวชีวิตที่ไร้อิสรภาพ หลังถูกกดขี่ยาวนาน 13 ปีจากผู้เป็น 'พ่อ' บทเรียนครั้งสำคัญของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯ เตรียมฉาย 28 ก.ย.นี้ ก่อนการพิจารณาคดีเพียงหนึ่งวัน
"ฉันทำงานหนักมาทั้งชีวิต ฉันไม่ติดค้างอะไรทั้งสิ้นให้กับคนพวกนี้"

Netflix เตรียมฉายสารคดี ‘บริทนีย์’ ตีแผ่เรื่องราวชีวิตที่ไร้อิสรภาพ หลังถูกกดขี่ยาวนาน 13 ปีจากผู้เป็น 'พ่อ' ในกระบวนการผู้พิทักษ์ตามกฎหมายของสหรัฐฯ บทเรียนครั้งสำคัญของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯ ที่มีผู้คนอีกมากมายกำลังเผชิญชะตากรรมที่คล้ายกัน

หลังการยืนยันเรื่องการสร้างสารคดีชุดพิเศษนี้เพียงวันเดียว Netflix ได้ปล่อยตัวอย่างแรกของสารคดี 'BRITNEY vs SPEARS' อีกหนึ่งเวอร์ชันของการนำเสนอและตีแผ่เรื่องราวอันซับซ้อนของ 'กระบวนการผู้พิทักษ์' หรือ 'Conservatorsip' คดีความที่กินเวลาต่อเนื่องยาวนานและอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกและแฟนคลับ 'บริทนีย์ สเปียร์ส' นักร้องเพลงป๊อปชื่อดังระดับโลกมายาวนานกว่า 13 ปี


บังคับให้ยา ให้เงินใช้เดือนละ 60,000฿

การ 'ควบคุม' ที่ว่ารวมไปถึงการดูแลทางการเงินทั้งหมด การรับประทานอาหาร การใช้โทรศัพท์มือถือ การจำกัดคนที่บริทนีย์จะพบเจอ อิสระในการตกแต่งที่พัก ไปจนถึงการที่ บริทนีย์จะได้รับเงินเพียง 2,000 ดอลลาร์หรือราว 60,000 บาทต่อสัปดาห์เท่านั้นในการใช้จ่ายในช่วงที่เธอเซ็นต์สัญญาแสดงโชว์ที่ลาสเวกัส 4 ปีเต็ม รวมการแสดงทั้งสิ้น 248 ครั้ง ทั้งๆ ที่เธอทำเงินได้มากเฉลี่ย 500,000 ดอลลาร์ หรือราว 15.9 ล้านบาทต่อการแสดงเพียง 1 ครั้ง รวมทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 137.7 ล้านดอลลาร์หรือราว 4,389 ล้านบาท

กระบวนการทางกฎหมายนี้ถูกมองว่าเป็นการกดขี่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจำกัดอิสระเสรีภาพของชีวิตและทรัพย์สินของนักร้องดังมาเกินทศวรรษ โดยการใช้ชีวิตในแทบจะทุกมิติของบริทนีย์ถูกจำกัดอย่างรุนแรงโดยผู้เป็น 'พ่อแท้ๆ ของเธอ' โดยคำให้การของบริทนีย์ก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นกว่ามีการ 'ให้ยา' บริทนีย์อย่างต่อเนื่อง

เธอเรียกพฤติกรรมที่คนรอบตัวปฏิบัติกับเธอว่า "ไม่ต่างกับการถูกค้ามนุษย์ทางเพศ"

ในตัวอย่างสารคดีที่ถูกปล่อยออกมา มีการปล่อยเสียงท่อนหนึ่งของบริทนีย์ที่ได้โทรหาทนายความของเธอเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2552 ว่า "สวัสดีค่ะ ฉันชื่อบริทนีย์ สเปียร์ส ฉันโทรมาก่อนหน้านี้แล้วครั้งนึงและโทรมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าระหว่างที่มีกระบวนการยุติกฎหมายผู้พิทักษ์..."

สิ่งที่แฟนๆ ได้เห็นในคลิปวิดีโอโปรโมทความยาว 1.29 นาทีนี้เต็มไปด้วยภาพบรรยากาศชีวิตที่ถูกจำกัดภายใต้การทำงานอย่างหนักทั้งการออกอัลบั้มและการทัวร์คอนเสิร์ตมากมายในหลายประเทศของบริทนีย์ตลอดช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมาของเธอ และการถูกจับตาจากปาปารัสซีแทบจะ 24 ชม.


"ฉันต้องการชีวิตของฉันคืน"

Netflix ยังได้รวบรวมคำสัมภาษณ์มากมายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผู้พิทักษ์และผู้ที่เคยรายล้อมชีวิตของเธอ บ้างก็กล่าวว่า "บริทนีย์กลัวมากว่าครอบครัวของเธอจะเข้ามาและเอาทุกอย่างในชีวิตของเธอไป" "มีเรื่องการจ่ายเงินมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้องที่ถูกจ่ายให้กับพ่อของเธอและทนายความ" "มีคนใกล้ชินแอบเปิดเผยข้อมูลลับให้กับฉัน"

"ผมเคยเป็นทนายว่าความในศาลให้กับคนที่ตกอยู่ในฐานะ 'ผู้ถูกพิทักษ์' (เหมือนกับบริทนีย์) หลายสิบคน แต่ไม่มีสักคนเดียวเลยที่พวกเขามีงานทำ" ทนายความคนหนึ่งกล่าว

หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า "นี่คือมหากาพย์ความล้มเหลวของระบบกฎหมาย ที่ยังดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน" ขณะที่อีกคนกล่าวว่า "บริทนีย์ต้องเดินทางไปที่ศาลเป็นล้านครั้ง เผชิญกับช่วงเวลาอันยาวนานที่ถูกสาธารณะวิจารณ์อย่างหนัก"


"คุณจะออกไปจากสถานการณ์แบบนี้ได้ยังไง... คุณออกไปไม่ได้ คุณต้องแหกปากร้องออกมาดังๆ"

สำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN ได้ผลิตสารคดีเกี่ยวกับการต่อสู้ของบริทนีย์เช่นกันโดยใช้ชื่อ 'TOXIC: BRITNEY SPEARS’ BATTLE FOR FREEDOM' โดยมีกำหนดฉายวันที่ 26 ก.ย.นี้ ขณะที่ Netflix มีกำหนดฉายสารคดี 'BRITNEY vs SPEARS' ในวันที่ 28 ก.ย. เพียงหนึ่งวันก่อนการพิจารณาคดีครั้งใหม่ในวันที่ 29 ก.ย.โดยบริทนีย์ได้ลงนามเรียกร้องให้กำจัดพ่อของเธอออกจากกระบวนการผู้พิทักษ์ และร้องศาลให้ยุติกระบวนการผู้พิทักษ์เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ก่อนหน้านี้ The New York Times ได้สร้างและนำเสนอสารคดีบริทนีย์ไปแล้วในชื่อ 'Framing Britney Spears' ขณะที่แฟนๆ ทั่วโลกต่างเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องด้วยแคมเปญ #FreeBritney ร่วมเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่สำหรับตัวนักร้องดังเท่านั้น แต่รวมไปถึงชาวอเมริกันหลายคนทั่วประเทศที่กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน


โจ้ ชลวิศว์ วงศ์ศรีวอ
พิธีกร - ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
39Article
1Video
3Blog