ไม่พบผลการค้นหา
ประธานทีดีอาร์ไอ เผย ไทยสร้างภาพลักษณ์เก่ง แต่ยังต้องพัฒนาปัญหาที่มีระหว่างสายการผลิตให้ได้ แนะต้องรู้จักผนวก Soft Power กับ Hard Power

วันที่ 4 มิ.ย. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนา 'เปลี่ยนโฉมกลยุทธศาสตร์ Soft Power สร้างอำนาจใหม่ให้ประเทศไทยสู่โลกหลังโควิด-19' ที่จัดขึ้นโดยบริษัท เทคซอส มีเดีย ชี้ว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือการขาดทักษะในการควบรวม 'ซอฟต์เพาเวอร์' (Soft Power) กระบวนการสร้างความคล้อยตามโดยปราศจากการบังคับ ตามหลักการของ 'โจเซฟ ไน' นักวิทยาศาสตร์การเมืองชาวอเมริกัน เข้ากับขั้วอำนาจแบบเดิมที่ต้องใช้กำลังหรือทรัพยากรที่จับต้องได้จริงเข้าบีบบังคับอย่าง 'ฮาร์ดเพาเวอร์' (Hard Power) จนสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นจริงได้

ในมุมของไทย ประธานทีดีอาร์ไอสะท้อนว่าประเทศมีเรื่องราวมากมายที่เป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้ ทั้งในเชิง อาหาร การท่องเที่ยว วัฒนธรรม กีฬา หรือแม้แต่บุคลิกของคนในชาติที่มีด้านที่อ่อนโยน (Soft Side) เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ช่องโหว่ระหว่างการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากสิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศเสียโอกาสอย่างมาก

ดร.สมเกียรติ ชี้ว่า การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนเป็นตัวอย่างได้อย่างดี เนื่องจากตั้งแต่การจองตั๋วเครื่องบินรวมไปถึงการจองที่พักเข้ามาท่องเที่ยวในไทยก็ล้วนทำผ่านแพลตฟอร์มของจีน ทั้งยังมีนักธุรกิจจีนอีกมากที่เข้ามาจัดการกระบวนการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นจนจบทำให้รายได้ที่ควรจะตกมาถึงมือของคนไทยหล่นหายไป

อีกตัวอย่างคือคอนเทนต์ภาพยนตร์ของไทยจำนวนมากที่เป็นที่นิยมของคนจีน แต่พอนำไปขายในประเทศจีนกลับสร้างรายได้ได้ต่ำมาก เนื่องจากอำนาจในการต่อรองของไทยมีอยู่น้อย ด้วยเหตุนี้ ดร.สมเกียรติ จึงพูดถึงกรณีที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องการจะสร้างแพลตฟอร์ม Thailflix เพื่อรวบรวมคอนเทนต์บันเทิงว่าแท้จริงแล้วในมุมหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีและเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ แต่ก็ย้ำว่า กระบวนการพัฒนาแพลตฟอร์มควรถูกผลิตขึ้นมาจากฝั่งเอกชนเป็นหลักและมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินเท่านั้นพอ

"สายการผลิตต้องดีจริง การตลาดต้องเก่งจริง ถ้ารัฐบาลทำเองมันจะเละ เอาเงินไปให้เอกชนทำดีกว่า" ดร.สมเกียรติ กล่าว

ประธานทีดีอาร์ไอย้ำว่า ในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตและพร้อมในการเติบโตในยุคข้างหน้านั้น ภาพลักษณ์หรือซอฟต์เพาเวอร์เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ก็ต้องมีฮาร์ดเพาเวอร์ มีองค์ความรู้จริงๆ มีของที่มีคุณภาพจริงๆ เอาไว้ต่อสู้กับผู้ต่อสู้คนอื่น และสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคด้วย ไม่ใช่โฆษณาออกไปอย่างเดียวว่าดีแต่สุดท้ายแล้วไม่เป็นแบบนั้น ในระยะยาวก็จะยืนระยะไม่ได้

ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างกรณีภาคการเกษตรของญี่ปุ่นว่า สาเหตุที่เกษตรกรญี่ปุ่นสามารถขายเมล่อนลูกละ 3,000 บาท ได้ ไม่ใช่แค่เพราะเมล่อนนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ดีจริง ผู้ปลูกใส่ใจในทุกขั้นตอนจริง แต่กระบวนการปลูกเมล่อนเหล่านี้กลายเป็นเหมือนงานศิลปะประเภทหนึ่งที่นอกจากจะช่วยให้สินค้าออกมามีคุณภาพ ยังช่วยสร้างเรื่องราวให้คนซื้อได้รู้สึกถึงมูลค่าของสินค้านั้นๆ เพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งสินค้าเกษตรของไทยมากมายก็ทำได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในฝั่งสินค้าจีไอ (สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์)

"เรามีเกษตรพรีเมียม แต่ถ้าจะสั่งซื้อเยอะ ไม่มีของอีก หรือสินค้าโอท็อป พอจะลองสั่งดู ทั้งปีทำสองชิ้น" ดร.สมเกียรติ กล่าว

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว ดร.สมเกียรติชี้ว่า การจะผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า ทุกจุดในสายการผลิตต้องกลับไปดูปัญหาและแก้ไขสิ่งเหล่านั้น ต้องมีพร้อมทั้งภาพลักษณ์ คุณภาพ ความสามารถในการผลิต รวมไปถึงความรู้สึกประทับใจที่มอบให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างความสัมพันธ์เหล่านี้ไว้เป็นรากฐานของการเติบโตของประเทศ