ไม่พบผลการค้นหา
'วิษณุ' ระบุตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว ตามที่สหรัฐฯ ร้องขอเป็นไปได้ยาก เพราะต้องแก้ไขกฎหมายหลายจุด ซึ่งใช้ระยะเวลามากกว่า 6 เดือน แต่ไทยจะแก้ไขในเรื่องอื่นเพื่อไปเจรา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกา ตัด GSP และต้องการให้ตั้งสหภาพการแรงงานต่างด้าวในไทย ว่า เรื่องนี้ต้องไปถาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งวานนี้(29ต.ค.) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อตอนเช้าตนไม่ได้เข้าประชุม และตอนที่ ไมเคิล ฮีส อุปทูตสหรัฐ เข้าพบนายสมคิด ตนยังไม่ได้รับรายงานเช่นกัน โดยนายสมคิดรายงานให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทราบเพียงคนเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ในกฎหมายจะทำได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่ายังทำไม่ได้และในหลายประเทศก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทำ รวมถึงสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ยอมให้ทำ ดังนั้นเรื่องนี้ ทำได้ยาก หากจะแก้กฎหมาย คงต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ใช้เวลามากกว่า 6 เดือน ตามที่สหรัฐ ได้กำหนดไว้

โดยจะต้องใช้วิธีอย่างอื่นในการเจรจาพูดคุยกัน ซึ่งมีวิธีการในการเจรจาหลายข้อ และเชื่อว่าเรื่องที่สหรัฐ ตัด GSP กับไทย ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแบนสามสารเคมี เพราะที่ผ่านมาไทยก็ได้ศึกษาการแบนสารพิษมาตั้งนานแล้ว และก็ไม่คาดคิดจะทำตรงกับช่วงเวลาที่สหรัฐจะตัดสิทธิ์ GSP กับไทย แต่ไทยก็มีจุดอ่อนอยู่หลายเรื่อง อย่างวันนี้หยิบเรื่องแรงงานมาเป็นตัวเลือก ซึ่งถ้าไม่หยิบเรื่องแรงงานก็อาจจะหยิบเรื่องอื่นก็ได้ ซึ่งไทยก็พยายามแก้ไขเรื่องอื่นๆ และใช้เรื่องอื่นไปเจรจาแทน เพราะบางเรื่องเราอาจจะปรับแก้ไขได้ เนื่องจากไม่ยากเท่ากับการแก้ไขสวัสดิภาพแรงงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข หากตนจะตอบมากไปกว่านี้ กลัวว่าจะให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

"วิษณุ" ไม่ตอบเรื่องเหมืองอัครา เพราะกลัวกระทบต่อรูปคดี ยืนยันว่าจะเดินหน้าตามอนุญาโตตุลาการ

ส่วนกรณีในที่ประชุมครม.เมื่อวานนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ 4 แนวทางในการหาทางออก หวังสั่งปิดเหมืองอัครา นายวิษณุ ระบุว่า ตนไม่ขอตอบในเรื่องนี้ เนื่องจากกระทบกับรูปคดี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะรับไปดำเนินการต่อ ก่อนจะกลับมารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้เองทางคณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้เลือกทางเลือกใดๆทั้งสิ้น และอีกทางเรื่องนี้มีมติคณะรัฐมนตรีมานานแล้ว ยืนยันว่าจะเดินหน้าตามอนุญาโตตุลาการ