ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่หวั่นฝ่ายค้านอธิปรายวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ย้ำไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน วางกรอบงานเร่งด่วน เตรียมผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย-ช่วยเหลือเอสเอ็มอี-แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเปิดงาน Thailand Industry Expo 2019 ว่า นโยบายเร่งด่วนที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการ คือ การผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ ทั้ง อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเร็วๆ นี้ จะมีหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหาแนวทางปลดล็อกให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น จะทำให้เอสเอ็มอีที่ติดเครดิตบูโร หรือมีหนี้เสียสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้จะมีการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีโรงงานเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจะต้องเข้ามาควบคุมมาตรฐานโรงงาน และการผลิตด้วยทั้งนี้จะมีการหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเกษตร เพื่อเพิ่มราคาสินค้าให้มีราคาสูงขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าผลผลิตผ่านการแปรรูป โดยทั้งหมดยังต้องรอดูความชัดเจนก่อนว่าจะมีการออกมาตรการมาในรูปแบบใด 

ส่วนการดูแลราคาอ้อยและน้ำตาล ยอมรับว่าขณะนี้ได้รับผลจากปัญหาราคาตกต่ำตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก ซึ่งนโยบายที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าจะดันราคาอ้อยให้ถึง 1,000 บาทต่อตันอ้อย ยังคงต้องรอดูแนวทางว่าจะต้องช่วยเหลืออย่างไร เพื่อไม่ให้ผิดข้อบังคับมาตรการควบคุมขององค์กรการค้าโลก หรือ WTO

ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม เพราะหากขึ้นพร้อมกันทั้งหมดทั่วประเทศก็จะส่งผลกระทบกับกลุ่มอุตสาหกรรมรวมถึงผู้บริโภค

ทั้งนี้ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ที่จะมีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา นายสุริยะ ย้ำว่า เตรียมพร้อมตอบทุกคำถามของฝ่ายค้านที่รออภิปราย เพราะเชื่อว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนตามที่ได้มีการตั้งข้อสังเกต โดยยังมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงและตอบคำถามได้ทุกประเด็น 

ด้านนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้เตรียมที่จะเข้าหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเสนอแนวทางสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม เช่น เมดอินไทยแลนด์ การสนับสนุนกองทุนนวัตกรรม การช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม กระตุ้นการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อยากสนับสนุนเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็น 50-60 เปอร์เซ็นต์

ส่วนประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ นายสุพันธ์ ระบุว่า เห็นด้วยหากจะมีการปรับขึ้น 400 บาทต่อวัน แต่ต้องเป็นไปตามการพัฒนาฝีมือแรงงานก่อน รวมถึงจัดตั้งสถาบันเทรนนิ่ง เพราะหากปรับขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศจะส่งผลกระทบภาคอุตสาหกรรม