ไม่พบผลการค้นหา
การประชุมว่าด้วยเสรีภาพ Oslo Freedom Forum จัดงานแบบออนไลน์ในปีนี้ เพราะต้องป้องกันโรคโควิด-19 ขณะที่ 'ธนาธร' เป็นคนไทยที่ได้รับเชิญเข้าร่วม พร้อมบุคคลสำคัญจากหลายแวดวง ทั้งซีอีโอทวิตเตอร์, รมต.ดิจิทัลไต้หวัน, แกนนำการชุมนุมฮ่องกง, สื่อผู้ตีแผ่การละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์

เวทีการประชุมนานาชาติขององค์กรไม่แสวงผลกำไรในนอร์เวย์ 'ออสโล ฟรีดอม ฟอรัม' (OFF) จัดประชุมในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Conference) ระหว่างวันที่ 24-25 ก.ย.2563 ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้วิธีการดังกล่าว นับตั้งแต่เริ่มจัดงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยมีเหตุผลสำคัญเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกประกาศจำกัดและควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ

ปีนี้มีผู้คนจากหลากหลายแวดวงได้รับเชิญให้ร่วมกล่าวปาฐกถาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ สิทธิเสรีภาพ และการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยจากทั่วโลก ซึ่งกรณีของไทย ผู้จัดได้เชิญ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' แกนนำคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาในวันที่ 24 ก.ย.

บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของ OFF ระบุว่าธนาธรเป็นนักธุรกิจคนสำคัญของไทย ทั้งยังเป็นแกนนำฝ่ายค้านที่มุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย จนกระทั่งถูกรัฐบาลทหารยุบพรรค แต่เขาก็ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลประจำปี 2562 จากการรวบรวมข้อมูลของนิตยสารไทม์ สื่อเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา

OFF เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนด้านความร่วมมือจากรัฐบาลนอร์เวย์ และระบุหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ร่วมปาฐกถาบนเวที OFF แต่ละปีโดยจะพิจารณาจากประวัติการทำงานและการเคลื่อนไหวรณรงค์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และการส่งเสริมสันติภาพให้เกิดขึ้นในแต่ละสังคม

ส่วนผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีคนอื่นๆ ในปีนี้ รวมถึง 'ออเดรย์ ถัง' รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการดิจิทัลของไต้หวัน ทั้งยังเป็นอดีตนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยมาก่อน และเป็น รมต. คนแรกของไต้หวันที่เป็นหญิงข้ามเพศ ทำให้ถังเป็นผู้สนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศอีกบทบาทหนึ่งด้วย

'แจ็ก ดอร์ซีย์' ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร 'ทวิตเตอร์' สื่อสังคมออนไลน์ที่ประกาศจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเปิดพื้นที่ออนไลน์ให้ผู้คนถกเถียงและแลกเปลี่ยนในประเด็นทางสังคม ทั้งยังเป็นเศรษฐีคนสำคัญที่สมทบทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

'พักอึนฮี' หญิงสาวชาวเกาหลีเหนือ ผู้แปรพักตร์หลบหนีจากประเทศบ้านเกิดมายังเกาหลีใต้เพื่อแสวงหาเสรีภาพตั้งแต่อายุได้เพียง 17 ปี และปัจจุบันพักมีอายุได้ 29 ปี เป็นที่รู้จักในเกาหลีใต้จากการเข้าสู่วงการนักแสดงโทรทัศน์ ทั้งยังเป็นผู้สะท้อนภาพระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือให้สาธารณชนภายนอกได้รับรู้อีกด้วย

'นาธาน เหลา' แกนนำการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกง ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อายุน้อยที่สุดของฮ่องกง แต่ต้องเผชิญชะตากรรมถูกยุบพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบัน เหลายังคงเป็นบุคคลสำคัญที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปประชาธิปไตยในฮ่องกง

'กูลเชชรา โฮจา' ผู้สื่อข่าวชาวอุยกูร์ที่เคยทำงานกับสื่อรัฐบาลจีน แต่ผันตัวมาเป็นสื่อในสังกัด Radio Free Asia ซึ่งเป็นสำนักข่าวระหว่างประเทศที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

โฮจาให้เหตุผลว่าต้องการรายงานข่าวและข้อเท็จจริงโดยไม่ถูกปิดกั้นข้อมูล หลังจากนั้นจึงมีการรายงานให้เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ ขณะที่สมาชิกครอบครัวของโฮจากว่า 20 คน กลายเป็นบุคคลหายสาบสูญ

ก่อนหน้านี้เคยมีคนไทยที่ได้รับเชิญไปร่วมเวที OFF มาแล้ว โดยปี 2561 มีการเชิญ 'เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล' นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปร่วมเวทีปาฐกถาในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นประชาธิปไตย ขณะที่ปี 2562 กลุ่มแร็ปเปอร์ Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลง 'ประเทศกูมี' ได้รับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent ว่าด้วยการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างสร้างสรรค์

นอร์เวย์เคียงข้างนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั่วโลก

มาเรียน ฮาเกน รมว.กระทรวงการต่างประเทศของนอร์เวย์ ได้กล่าวเปิดงานด้วยการขอบคุณนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ชุมนุมประท้วงในเบลารุส และขอประณามรัฐบาลเบลารุสที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวตามสิทธิอันชอบธรรม พร้อมเตือนว่าหลายประเทศกล่าวอ้างการควบคุมโควิด-19 เพื่อปิดกั้นการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

"เราได้เห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยในหลายประเทศเสื่อมถอยลง ผู้ชุมนุมโดยสงบต้องเผชิญกับการกดดันที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล โดยอาศัยโรคระบาดเป็นเหตุผลในการจำกัดหรือควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้พื้นที่ในการถกเถียงพูดคุยในประเด็นต่างๆ ลดน้อยลง เพราะเมื่อคนไม่สามารถเดินทาง และไม่สามารถแสดงความเห็นออกมาได้ตามปกติ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น"

ด้วยเหตุนี้ ฮาเกน จึงย้ำว่า นอร์เวย์จะยืนเคียงข้างนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั่วโลกต่อไป 

'ธนาธร' ยกย่อง 'ประชาชน' ผู้ต่อสู้เพื่อแสงแห่งความหวังในไทย 

การปราศรัยของ 'ธนาธร' เริ่มขึ้นภายหลังผู้สื่อข่าวชาวอุยกูร์ โดยเขาระบุว่า ช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ของไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา เกี่ยวพันกับการแย่งชิงการนำระหว่างมวลชนที่ไม่ยอมจำนนและกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นคนส่วนน้อย โดยหลักฐานที่สะท้อนโครงสร้างเหล่านี้คือการที่ประเทศไทยมีรัฐประหารเกิดขึ้นมากกว่าประเทศไหนๆ ในโลก

"เวลา 88 ปีนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เราผ่านรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง หรือเฉลี่ย 6.7 ปีจะต้องเจอรัฐประหาร 1 ครั้ง และช่วง 88 ปีที่ผ่านมา ไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน มีแค่คนเดียวที่อยู่จนครบวาระ 4 ปีตามตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง"

"ผมอายุ 36 ปีตอนที่รัฐบาลทหารก่อรัฐประหารครั้งล่าสุด ผมเป็นผู้บริหารกิจการของครอบครัวอยู่ในตอนนั้น ผมมีชีวิตที่สุขสบาย แต่ผมรู้ว่าผมจะไม่มีความสุข เพราะอย่างที่คุณเห็น ในประเทศไทย ตระกูลใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ผูกขาดตลาดภาคส่วนต่างๆ เอาไว้ คนกลุ่มนี้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตัวเองได้โดยไม่สร้างนวัตกรรมใดๆ ขึ้นมาตอบแทนสังคม พวกเขาสั่งสมความมั่งคั่งด้วยการสมยอมกับรัฐบาล หรือไม่ก็ล็อบบีรัฐบาลให้คงกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้พวกเขายังผูกขาดต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจึงอันดับเลวร้ายที่สุดในโลกหากอิงดัชนีชี้วัดบางตัว"

"ข้อมูลอ้างอิงจากเครดิตสวิสในปี 2561 คนร่ำรวยเพียง 1% เป็นผู้ถือครองสถิติอันน่าตกใจ คือ 67% ของความมั่งคั่งโดยรวมทั้งประเทศ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นพันธมิตรโดยปกติของรัฐบาลทหาร พวกเขาสนับสนุนระบอบทหารในอดีต และยังคงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน เพราะตลาดถูกผูกขาด คนทำธุรกิจจึงรู้ดีว่าการแสดงความคิดเห็นต่อต้านเครือข่ายสถาบันหลักของประเทศมีผลให้สูญเสียธุรกิจหรือการงานทั้งหมดของพวกเขา ผู้คนสะสมความหวาดกลัวเหล่านี้ไว้ จนกลายเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองในวงกว้าง"

"คนที่ร่ำรวยสามารถใช้ชีวิตอย่างหรูหราและนิ่งเงียบได้ พวกเขาส่งลูกๆ ไปเรียนโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ใช้เวลาช่วงหน้าหนาวด้วยการเล่นสกีที่ฮอกไกโด ใช้เวลาช่วงหน้าร้อนกับการจิบไวน์ในยุโรป แต่คนไทยทั่วๆ ไป ไม่อาจนิ่งเงียบได้ การสยบยอมหมายความว่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย"

ด้วยเหตุนี้ ธนาธรได้กล่าวถึงประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทั้งในอดีตจนถึงเหตุการณ์ล่าสุด โดยย้ำว่าการต่อสู้ของเพื่อประชาธิปไตยในไทยจะเป็น 'แสงแห่งความหวัง' สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในประเทศนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: