ไม่พบผลการค้นหา
'ทีเอ็มบี' ทุ่มเงินราว 1.6 แสนล้านบาท เข้าซื้อ 'ธนชาต' สร้างแบงก์ใหม่หวังสู้แบงก์ใหญ่

การควบรวมธุรกิจระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง นับเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดของวงการธนาคารพาณิชย์ไทยในรอบปี 2562 นี้

การรวมธุรกิจกันในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดธนาคารใหม่ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นหลักที่ประกอบไปด้วย ไอเอ็นจี (ING) , ทุนธนชาต (TCAP), กระทรวงการคลัง, สโกเทียแบงก์ (BNS) และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ในอัตราส่วนร้อยละ 21.3, 20.4, 18.4, 5.6 และ 34.3 ตามลำดับ 

TMB

โดยปัจจุบันยังไม่มีการสรุปว่าจะใช้ชื่อธนาคารใหม่ชื่ออะไร ส่วนกระบวนการรวมกิจการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 แต่การปิดบัญชีจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

'ศุภเดช พูนพิพัฒน์' ประธานกรรมการบริหาร TCAP กล่าวว่า การรวมตัวกันของทั้ง 2 ธนาคาร ส่งผลให้จำนวนสินทรัพย์รวมมีเพิ่มขึ้นราว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่มีสินทรัพย์อยู่ที่ราว 3 ล้านล้านบาทต่อธนาคาร โดยจำนวนฐานลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารที่เพิ่มขึ้น ก็มียอดความทับซ้อนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น จึงนับว่าเป็นโอกาสทางการค้าที่สำคัญ 

การควบรวมมูลราว 1.6 แสนล้านบาท

แม้ในงานแถลงข่าวจะไม่ได้พูดถึงตัวเลขในการเข้าซื้อกิจการของธนาคารทหารไทยต่อธนาคารธนชาต แต่จากการประเมิน มองได้ว่าตัวเลขน่าจะอยู่ 1.6 แสนล้านบาท เนื่องจากธนาคารธนชาตมีผู้ถือหุ้นหลักคือ TCAP และ BNS ในสัดส่วนร้อยละ 51 และ 49 ตามลำดับ

โดย 'สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ' กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP กล่าวว่า เงินสดที่ได้รับจากการขายหุ้นธนาคารธนชาต (TBANK) ให้กับธนาคารทหารไทย อยู่ที่มูลค่า 80,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ฝั่ง BNS ไม่ได้ออกมาเปิดเผยมูลค่าที่ได้จากการขายหุ้น TBANK ที่บริษัทถืออยู่ แต่หากเปรียบเทียบสัดส่วนกับ TCAP แล้ว จึงเชื่อได้ว่ามูลค่าการเข้าซื้อหุ้นธนชาตของธนาคารทหารไทยอยู่ที่ราว 1.6 แสนล้านบาท

ลดสาขา เพิ่มบริการ ไม่ลดพนักงาน

สำหรับความกังวลเรื่องการปรับลดพนักงาน 'ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารธนชาตกล่าวว่า การรวมธุรกิจกันครั้งนี้เป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ รับความท้าทายใหม่ๆ สำหรับพนักงานทั้ง 2 ธนาคาร เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นถึง 10 ล้านคน 

โดย ประพันธ์ เสริมว่า ตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงก่อนการปิดสัญญาในช่วงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ถือว่าอยู่ในช่วงเตรียมการปรับโครงสร้าง พร้อมย้ำว่าหลังจากเดือนธันวาคมเป็นต้นไปจะเข้าสู่ช่วงของการควบรวมอย่างเป็นทางการซึ่งต้องใช้พนักงานจำนวนมาก จึงไม่มีเหตุผลให้ต้องปรับลดพนักงาน

ด้าน 'ปิติ ตัณฑเกษม' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบี กล่าวเสริมว่า พนักงานของทั้ง 2 บริษัท เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนประมาณ 19,000 คน ซึ่งต้องรองรับจำนวนลูกค้าในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีพนักงานมากกว่าหลายเท่า จึงไม่จำเป็นต้องปรับลดพนักงานแต่อย่างใด

"คนคือสินทรัพย์ของเราที่เราต้องรักษาไว้" ปิติ กล่าว

'ประพันธ์' ปิดท้ายว่า สำหรับฝั่งของลูกค้า ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนธันวาคมยังสามารถเข้าไปใช้งานที่สาขาของแต่ละธนาคารได้ปกติ และเมื่อมีการควบรวมอย่างเป็นทางการ ก็ย้ำว่าสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าเคยได้จะยังได้เหมือนเดิม พร้อมจะมีผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลประโยชน์ใหม่ๆ มาเพิ่มเติม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;