ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างลากิจได้รับค่าจ้าง 3 วันต่อปี ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนและหลังคลอดได้ 98 วัน ลูกจ้างชายหญิงมีสิทธิได้ค่าจ้างเท่าเทียมกันสอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 100

วานนี้ (13 ธ.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 180 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปพร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้าง พัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่แล้ว หลังจากเมื่อวันที่ 20 ก.ย. กระทรวงแรงงานนำร่างกฎหมายนี้เสนอ สนช. และ สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการหลังรับหลักการวาระที่ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการทั้งหมด 16 คน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 12 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา และวานนี้ (13 ธ.ค.) พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร สนช. นำเข้าพิจารณาวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุมเห็นชอบทั้งหมด 25 มาตรา หลังจากนั้นรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วัน จะมีผลบังคับใช้ทันที ถือเป็นของขวัญปีใหม่ คาดจะบังคับใช้ก่อนเลือกตั้ง ก.พ. 2562

นายมนัส กล่าวว่า ลูกจ้างจะได้สิทธิประโยชน์ 7 ข้อสำคัญ คือ 

1. ลากิจธุระจำเป็นได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี

2. ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนคลอด หลังคลอดได้ 98 วัน

3. กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอมสามารถรับค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายฉบับนี้ โดยหาดทำงานมาครบ 20 ปี ได้รับ 400 วัน

4. ได้รับค่าชดเชยใหม่ กรณีเลิกจ้างจะเพิ่มเป็น 6 อัตรา จาก เดิม 5 อัตรา คือ อัตราที่ 1 ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน อัตราที่ 2 ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน อัตราที่ 3 ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน อัตราที่ 4 ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน อัตราที่ 5 ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน และอัตราที่ 6 ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน

5. กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อื่น หากลูกจ้างไม่ตามไปก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และได้สิทธิชดเชยตาม 6 อัตราข้างต้น ซึ่งตามกฎหมายเก่าลูกจ้างจะไม่ได้รับอะไรเลย 

6. กรณีค่าตอบแทน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน จะเป็นในบางอาชีพ เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย, คนขับรถส่งของ ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีค่าล่วงเวลา แต่จะได้ค่าตอบแทนเป็นหลัก หากเกินเวลาปกติ ของเดิมดอกเบี้ยให้ร้อยละ 7.5 ต่อปีกรณีลูกจ้างไปฟ้อง แต่กฎหมายใหม่ให้ได้สูสุดร้อยละ 15 ต่อปี

7. ให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างชายหญิง โดยลูกจ้างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด แต่กฎหมายใหม่เพิ่มตรงนี้ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 100