ไม่พบผลการค้นหา
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ห่วงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา แม้อิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทยจะช่วยเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำ แต่ยังไม่มากพอ จึงเร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา คาดน้ำต้นทุนไม่เพียงพอสนับสนุนนาปรัง

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า อิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาทั้งพายุซินลากูนร่องมรสุม และพายุโนอึลจะช่วยเติมน้ำให้ 4 เขื่อนหลักรวม 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล 654 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนสิริกิติ์ 1,669 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 159 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 118 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในระดับกักเก็บของแต่ละเขื่อนแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ

ทั้งนี้ช่วงเดือน ต.ค.จะยังคงมีร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกและมีน้ำไหลเข้าเขื่อนต่อเนื่อง กอนช.คาดการณ์เมื่อเริ่มเข้าเดือน พ.ย.เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา 4 แห่งดังกล่าวจะมีปริมาณน้ำต้นทุนรวมประมาณ 6,270 ล้านลูกบาศก์เมตรใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (62) ซึ่งจะไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวในหน้าแล้งหรือทำนาปรัง จึงจำเป็นจะต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าแล้งปี 2563/64 อย่างรอบครอบ โดยจะสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศและการเกษตรกรต่อเนื่องเท่านั้น เบื้องต้นจะมีความต้องการใช้น้ำขั้นต่ำวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรพร้อมทั้งต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้เพื่อการเตรียมแปลงปลูกพืชช่วงต้นฤดูฝนและใช้กรณีฝนทิ้งช่วงปี 2564 ด้วย

เลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำว่า ภาพรวมประเทศยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางถึง 105 แห่งต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% โดยเฉพาะน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน, และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 24% เท่านั้นทำให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือน ต.ค.นี้จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรีนำไปใช้บริหารจัดการน้ำและกำหนดมาตรการต่อไป