ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลประทาน เผยปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์น้อย แม้จะมีฝนตกระยะนี้ แต่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย วอนทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบันเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันประมาณ 30,322 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 7,045 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,487 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 791 ล้าน ลบ.ม.

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,408 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,915 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของแผนจัดสรรน้ำฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่จะต้องจัดสรรอีกเพียง 1,335 ล้าน ลบ.ม.

โดยกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ปฏิบัติตามแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี 63 ทั้งการกำหนดบุคลากร กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมประชาสัมพันธ์เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มการเพาะปลูก ให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปหลังกลางเดือนกรกฎาคม หรือจนกว่าจะมีปริมาณฝนตกในพื้นที่อย่างเพียงพอ สำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำท่าในแม่น้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เข้าไปช่วยเสริม

และได้กำชับให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกในพื้นที่ รวมทั้งตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดวัชพืชในลำน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้