ไม่พบผลการค้นหา
ภายใต้ภาพการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วยุโรป และการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ จุดยืนเรื่อง ‘เสรีภาพ’ ที่ต่างกันในห้วงเวลาของโควิด-19 ยังนำไปสู่การแตกแยกระหว่างเพื่อนฝูงและครอบครัว

ยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มสูงขึ้นจนองค์การอนามัยโลกแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในยุโรปที่กลับมาเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดอีกครั้ง นำมาสู่การกลับมาของล็อกดาวน์ และมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนในหลายประเทศไม่พอใจและออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล

เนเธอร์แลนด์

วันศุกร์และเสาร์ (19-20 พ.ย.64) ที่ผ่านมามีการประท้วงในหลายเมืองในเนเธอร์แลนด์ หลังจากรัฐบาลประกาศจะใช้มาตรการ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ เป็นเวลาสามสัปดาห์ ที่ส่งผลให้ร้านค้าและร้านอาหารต้องปิดเร็วขึ้น และจะต้องรักษาระยะห่าง 1.5 เมตร รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ที่ไม่ต้องแสดงเอกสารรับรองสุขภาพหรือการฉีดวัคซีน

สำนักข่าว NOS สื่อสาธารณะของเนเธอร์แลนด์รายงานว่า การประท้วงที่เมืองร็อตเตอร์ดัมเกิดการจลาจล และมีการปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ประท้วง มีผู้ถูกจับกุม 51 คน และมีผู้ชุมนุม 3 คน ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนจริงของตำรวจ ในขณะที่ตำรวจระบุว่า เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการใช้พลุไฟและการปาก้อนหินจากฝ่ายผู้ประท้วง

เบลเยียม

ที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ประชาชนประมาณ 35,000 คน เดินขบวนประท้วงต่อต้านมาตรการโควิด-19 ของรัฐบาล เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการใช้ “บัตรผ่านโควิด” หรือเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ที่ส่งผลให้ผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนไม่ได้รับนุญาตให้เข้าไปในสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านอาหาร หรือบาร์

ผู้ประท้วงบางคนขว้างดอกไม้ไฟใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมและยิงแก๊สน้ำตา

ออสเตรีย

ประชาชนหลายหมื่นคนออกมาประท้วงในกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย โบกธงและป้าย "เสรีภาพ" พร้อมตะโกน "ต่อต้าน!" และโห่ไล่ตำรวจ หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์เป็นเวลา 20 วัน

ออสเตรียเป็นประเทศแรกในยุโรปที่รัฐบาลดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศอีกครั้ง นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 พ.ย.เป็นต้นไป หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นประเทศแรกที่กำลังวางแผนการบังคับใช้กฎหมายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ให้ประชาชนต้องฉีดวัคซีนโควิด-19

ฝรั่งเศส

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 พ.ย.) รัฐบาลฝรั่งเศสส่งกองกำลังตำรวจพิเศษไปยัง ‘กัวเดอลูป’ เกาะในทะเลแคริบเบียนตอนใต้ที่อยู่ในการปกครองของฝรั่งเศส หลังจากเกิดการก่อจลาจลและปล้นสะดมมากว่าสามวัน เบื้องต้นเกือบ 40 คนถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สหภาพแรงงานในกัวเดอลูปเริ่มประท้วงหยุดงานอย่างไม่มีกำหนด เพื่อประท้วงการบังคับฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และข้อกำหนดบัตรผ่านด้านสุขภาพ

นอกจากนี้ ในโครเอเชีย ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนในเมืองหลวงซาเกร็บเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการบังคับฉีดวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ขณะที่ในอิตาลี ผู้ประท้วงประมาณ 3,000 คน รวมตัวในกรุงโรมเพื่อคัดค้านการบังคับใช้ใบรับรองสุขภาพ "Green Pass" ในสถานที่ทำงาน ร้านค้า และขนส่งสาธารณะ


แนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพที่ต่างกัน: ฉีดวัคซีน Vs. ไม่ฉีดวัคซีน

ที่ผ่านมาประเทศในยุโรปต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องวัคซีนมาโดยตลอด แต่เป็นคนละความท้าทายกับประเทศไทยที่รัฐบาลจัดสรรวัคซีนล่าช้าและไม่เพียงพอ กลับกัน ประชาชนในยุโรปสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่าย ฟรี มีเพียงพอ แต่คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะยังไม่ฉีดวัคซีน ส่วนหนึ่งเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านนโยบายบังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีนในหลายประเทศ ไปจนถึงการถกเถียงเรื่องสิทธิและความปลอดภัยของสาธารณะที่ดูเหมือนจะยังไม่มีคำตอบชัดเจน ล่าสุดรัฐบาลหลายประเทศในยุโรปปรับมาตรการเข้มงวดมากขึ้น โดยหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มข้อบังคับแก่ประชาชนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน

บางประเทศ ‘ล็อกดาวน์’ เฉพาะคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่งรับประทานในร้านอาหาร ซื้อของในร้านค้า ยกเว้นกรณีจำเป็นเท่านั้น

แม้แต่ในสหภาพยุโรปเองก็ยังถกเถียงกันในเรื่องนี้ แคลร์ ดาลี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งสหภาพยุโรปจากไอร์แลนด์ และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการเสรีภาพและความยุติธรรมของรัฐสภายุโรป กล่าวว่า ข้อจำกัดของรัฐบาล “กำลังเหยียบย่ำสิทธิส่วนบุคคล” เนื่องจากในหลายกรณี ส่งผลให้คนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนไม่สามารถไปทำงานได้” และ “เกือบจะมีการใช้คำพูดที่เข้าข่ายการสร้างความเกลียดชังต่อผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน”

ก่อนหน้านี้ ดาลี เรียกร้องให้ออสเตรียพิจารณายกเลิกการ ‘ล็อกดาวน์’ สำหรับคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน และมองว่าการล็อกดาวน์ทั้งประเทศของออสเตรียเป็น “สถานการณ์ที่น่ากลัว”

ขณะที่ศาสตราจารย์พอล เดอ โกรเว จาก London School of Economics โต้กลับว่า "ไม่มีเสรีภาพของบุคคลใดที่สัมบูรณ์"

"เสรีภาพที่จะไม่รับการฉีดวัคซีนจำเป็นต้องถูกจำกัดเพื่อรับประกันเสรีภาพของผู้อื่นที่จะมีสุขภาพที่ดี”

นอกจากนโยบาย ‘กึ่งบังคับ’ ให้ฉีดวัคซีนของรัฐบาลแล้ว วิกฤตโควิด-19 ที่กินระยะเวลามาสองปี รวมทั้งการระบาดระลอกล่าสุด ทำให้ประชาชนจำนวนมากในยุโรปรู้สึกอึดอัด และเกิดการต่อต้านระหว่างพลเมืองกันเอง คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว กับ คนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน

ภายใต้ภาพการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วยุโรป และการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ จุดยืนเรื่อง ‘เสรีภาพ’ ที่ต่างกันนี้ ยังนำไปสู่การแตกแยกระหว่างเพื่อนฝูงและครอบครัว

เบียร์คิตเตอ ชคุนมาร์กเกอร์ส แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และอาจารย์มหาวิทยาลัยโลเฟอ ในประเทศเบลเยียม กล่าวว่า เธอเห็นความขัดแย้งนี้ทุกวันในการปฏิบัติงาน ผู้ป่วยรายหนึ่งของเธอถูกห้ามไม่ให้อยู่บ้านเดียวกันพ่อแม่ เพราะเธอยังไม่ฉีดวัคซีน

ชคุนมาร์กเกอร์สบอกว่า ความขัดแย้งยิ่งมากขึ้นเมื่อผู้คนที่พร้อมที่จะเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ และ “มันกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้คน”


ที่มา:

https://www.npr.org/2021/11/21/1057793289/protests-have-broken-out-across-europe-in-response-to-tightened-covid-19-restric

https://nos.nl/artikel/2406445-drie-mensen-liepen-schotwonden-op-bij-rellen-rotterdam

https://www.bbc.com/news/world-europe-59355950

https://www.bbc.com/news/world-europe-59363256

https://www.reuters.com/world/europe/third-night-violence-guadeloupe-france-sends-police-special-forces-2021-11-21/

https://apnews.com/article/europe-coronavirus-vaccinated-vs-unvaccinated-eca483dc933075818334c74de26fb9c0?fbclid=IwAR3Ot10geDkXgixO3tr5qVs1xehR0vmDtXBJArbyD9QwvO_FFziBu4Q79yk