ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.ฝ่ายค้าน แสดงจุดยืน ไม่ร่วมประชุมลงมติวาระ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ตั้งคำถามศาลรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ ด้าน 'ชวน' ยืนยันสถานะ ส.ส.อนาคตใหม่ที่ถูกขับจากพรรค กกต. รับรองการสังกัดพรรคใหม่แล้ว

สภาผู้แทนราษฎร ประชุมเพื่อลงมติวาระที่ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ลงมติอีกครั้งเนื่องจากเกิดเหตุการณ์เสียบบัตรแทนกัน ซึ่งการประชุมในช่วงแรกกว่าจะเปิดประชุมได้ ล่าช้ากว่าครึ่งชั่วโมง เนื่องจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ยังไม่ถึงที่ประชุม แม้ ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วนมาร่วมเป็นองค์ประชุมด้วย

ก่อนเปิดการประชุม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมาเข้าร่วมประชุมช้า ซึ่งความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ก็เป็นเพราะความล่าช้าจากการเสียบบัตรแทนกัน และขอให้ตรวจสอบอย่าให้มีการเสียบบัตรค้างไว้ ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบใบหน้า หากมีสมาชิกบัตรสำรอง พร้อมย้ำว่าขณะนี้ไม่ควรเกิดปัญหาเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณแล้ว

แม้กระทั่งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังต้องมาเข้าร่วมประชุม แม้ฝ่ายค้านเป็นองค์ประชุมให้แล้ว แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหลายคนยังไม่เข้าร่วมประชุม จึงขออนุญาตออกจากห้องประชุม โดยนายเรืองไกร ชี้แจงว่า ได้รับหนังสือลงวันที่ 7 ก.พ. ลงนามโดยรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอเชิญให้มาชี้แจงในฐานะกรรมาธิการ ขณะที่นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ฝ่ายรัฐบาลนั่งที่ฝ่ายค้านได้ด้วย เพื่อความสะดวกในการเสียบบัตร แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยว่าไม่ควรนั่งที่อื่น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เดี๋ยวจะเกิดความเข้าใจผิดเรื่องเสียบบัตรแทนกันได้

ด้านนายวิรัช รัตรเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวขอบคุณฝ่ายค้านล่วงหน้าที่ร่วมเป็นองค์ประชุมและอยู่ร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขณะที่นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่ให้เกียรติฝ่ายค้าน อย่าทำให้ฝ่ายค้านเป็นผู้ร้าย เพราะเป็นห่วงประชาชนที่จะต้องมีเงินไปใช้จ่าย วันนี้ถือว่าฝ่ายค้านได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกระบวนการทั้ง 3 วาระ ไปแล้ว แต่จะให้เกียรตินั่งฟังอยู่นอกห้องประชุม ยืนยันว่าไม่ได้เกเร

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการทำหน้าที่ชี้แจงของกรรมาธิการวิสามัญ จะสามารถกลับมาชี้แจงได้หรือไม่ เนื่องจากกระบวนการจบไปหมดแล้ว จึงทำให้สถานะของกรรมาธิการสิ้นสุดลงไป และเป็นห่วงว่าบันทึกการอภิปรายในการประชุมครั้งที่แล้วจะสูญเปล่าหรือไม่ หากต้องลงมติวาระที่ 2 ใหม่ แล้วไม่มีการอภิปราย พร้อมย้ำจุดยืนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่าเห็นด้วยต้องเร่งพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่เห็นด้วยที่ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติ และขอให้บันทึกความเห็นที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ

น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การลงมติกันอีกครั้งเกิดจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงเกิดคำถามว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือรัฐสภาหรือไม่ และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ จึงเป็นข้อสงสัยในหมู่นักกฎหมายและประชาชน

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งที่กำลังเสนอความเห็นกันเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจกันตั้งแต่เมื่อวานแล้ว (12 ก.พ.) และขอให้ประธานสภาฯ เปิดประชุมตามวาระการประชุม ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ขอให้ประธานสภาฯ วินิจฉัยหนังสือทบทวนการลงมติวาระที่ 2 และ 3

จากนั้น เมื่อองค์ประชุมครบแล้ว นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการตามวาระการประชุม และชี้แจงเหตุผลที่ต้องมาลงมติวาระที่ 2 และ 3 ว่า เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรขอวินิจฉัย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ศาลรัฐธรรมนูญจะมายุ่งกับสภาผู้แทนราษฎร และเรื่องนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถวินิจฉัยเองได้ จึงรับเรื่องและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคำวินิจฉัยมีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร สิ่งที่ตัดสินใจไปจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่วนกรอบเวลาพิจารณา 105 วัน ซึ่งครบวันที่ 19 ม.ค.นั้น ถือว่าปฏิบัติตามถูกต้องเพราะพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.

ส่วนกระบวนการที่เกิดขึ้นวันนี้ (13 ก.พ.) เป็นกระบวนการใหม่อันเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนบรรจุระเบียบวาระได้หารือกับหลายฝ่าย เห็นว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว และขอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตามระเบียบวาระต่อไป พร้อมแจ้งยืนยันสถานะของ 4 ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่ ว่า กกต. ให้การรับรองการสังกัดพรรคใหม่แล้ว

ปธ.กมธ.งบฯ แจงสภา ปรับลดงบฯ 1.6 หมื่นล้านบาท โปะให้รัฐสภา - ศาล

จากนั้น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แถลงต่อสภาฯ ว่า ตามที่สภาฯ ได้ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเสนอได้มีมติรับหลักการแห่งราชพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2562 และมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเสนอต่อสภาพิจารณาในวาระที่ 2 – 3 เมื่อวันที่ 8-11 ม.ค. 2563 สำหรับการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเสนอให้มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานและตัวชี้วัดร่วม รวมถึงกิจกรรมที่หน่วยงานต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแผนบูรณาการนั้น สามารถนำมาติดตามประเมินการดำเนินงานและใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ กมธ.ได้แต่งตั้งอนุ กธ.พิจารณางบประมาณจำนวน 5 คณะ และ กมธ.วิสามัญได้ปรับลดงบประมาณลงจำนวน 16,231,217,700 บาท โดย พิจารณาจากความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายสำคัญของรัฐบาล ตลอดจนเป้าหมายผลดำเนินงานจริง ความคุ้มค่า และขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ

นายอุตตม ระบุว่า สำหรับการเพิ่มงบประมาณนั้น กมธ.วิสามัญ ได้พิจารณาเพิ่มงบประมาณให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานประกันสังคมและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษารวมจำนวน 16,231,217,700 บาท เท่ากับจำนวนที่ปรับลดได้ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณ มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน ตามด้วยนโยบาลสำคัญของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะต่อไป

นอกจากนี้ กมธ.วิสามัญได้พิจารณาอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวนหนึ่งรายการได้แก่ การเปลี่ยนงบประมาณรายจ่ายของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจำนวน 25,576,100 บาท ไปเป็นงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับพรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 ซึ่งการพิจารณารายละเอียดงบประมาณทั้งการปรับลดและเพิ่มงบประมาณดังกล่าว กมธ.วิสามัญ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน ความซ้ำซ้อนเป้าหมายการดำเนินงาน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมารายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ เพื่อให้สามารถดำเนินงานภายในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3,200,000 ล้านบาท ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการไว้