ไม่พบผลการค้นหา
การใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเป็นการก่ออาชญากรรมมากขึ้น

จากข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในปีงบประมาณ 2566 พบว่า เด็กและเยาวชนก่อคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายมากถึง 3,330 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 2,098 คดี เด็กและเยาวชนใช้อาวุธก่อความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย สะท้อนจากคดีเกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิดที่เพิ่มขึ้น จาก 876 คดีจากปี 2562 เป็น 1,683 คดี ในปี 2566

ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ เป็นนักเรียนที่อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยเมื่อแบ่งผู้กระทำความผิดตามช่วงอายุ จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่เป็น เยาวชนที่มีอายุ 15–17 ปี คิดเป็น 80% ขณะที่ 20% เป็นผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กอายุ 11–14 ปี และ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

429697845_1187872365512400_7311008262222374581_n.jpg


สำหรับปี 2566 สามารถจำแนกคดีได้ดังนี้

  • คดีเกี่ยวกับเพศ 885 คดี
  • คดีเกี่ยวกับอาวุธ วัตถุระเบิด 1,683 คดี
  • คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินฯ 3,330 คดี
  • คดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 2,712 คดี
  • คดีการเมือง 286 ราย
Screen Shot 2567-03-07 at 12.56.36.png
เจาะเหตุพฤติกรรม ป้องกันความรุนแรง

การที่อาชญากรรมของเด็กและเยาวชนมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยอาจแบ่งสาเหตุปัจจัยออกเป็น 5 ประเด็น ดังนี้

  • ปัญหาความเปราะบางของสถาบันครอบครัว

1. ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า เด็กและเยาวชนที่ก่ออาชญากรรมส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยกับอยู่กับพ่อแม่ โดยในปีงบ 2565 มีสัดส่วนมากถึง 70.7% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ 28.4% รองลงมาเป็นอาศัยอยู่กับแม่ 24.9% ทั้งที่ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัวจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ และสังคมของเด็กให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นรากฐานบุคลิกภาพ และพฤติกรรมโดยรวมของเด็กต่อไปในอนาคต ดังนั้น การที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่จึงมีความเสี่ยงสูงท่ีจะประสบปัญหาด้านการเรียนรู้และพฤติกรรม อาทิ การมีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรม 

Screen Shot 2567-03-07 at 13.03.37.png

2. การอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการลงโทษ/สั่งสอนโดยใช้ความรุนแรงเป็นอีก หนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมก้าวร้าว สะท้อนจากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี ในประเทศไทย ปี 2565 ที่พบว่า 53.8% ของเด็กอายุ 1–14 ปี ได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้ดูแล ด้วยการลงโทษทางร่างกาย หรือใช้ความรุนแรงทางด้านจิตใจ ทั้งการเขย่าหรือกระชากตัว การตีหรือตบที่หน้า ศีรษะ หรือหู การตีด้วยสิ่งของ เช่น เข็มขัด ไม้เรียว เป็นต้น ตลอดจนการตะคอก ตวาด หรือการด่าเด็กว่าโง่ ซึ่งการลงโทษในลักษณะดังกล่าว จะทำให้เด็กเกิดบาดแผลทางจิตใจ (Trauma) รู้สึกขาดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กต่อต้านและท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมรุนแรงและก่ออาชญากรรมได้

  • ปัญหาสังคมเพื่อน

1. ความต้องการการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน เป็นปัจจัยสำคัญ ที่นำไปสู่การก่อความรุนแรงในเด็ก เนื่องจากสังคมเพื่อนจะมีความใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อการกำหนดรูปแบบพฤติกรรม ค่านิยม และชุดความคิด รองจากสถาบันครอบครัว หากเด็กและเยาวชนเลือกคบเพื่อนที่พฤติกรรมไม่ดี มีแนวโน้ม ที่จะถูกชักจูงและมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อให้ได้รับการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน สะท้อนได้จากข้อมูลของกรมพินิจฯ พบว่า ปัจจัยด้านเพื่อนและคนใกล้ชิด ส่งผลให้เด็กกระทำความผิด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดที่เกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด ซึ่งเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่กระทำความผิด มักมีเพื่อนที่มีพฤติกรรมไม่ดี เช่น หนีเรียน เที่ยวกลางคืน ดื่มสุรา เกี่ยวข้องกับอบายมุข/สิ่งผิดกฎหมาย

2. การถูกบูลลี่ (Bully) นับเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง จากการสำรวจของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชนปี 2563 พบว่า ผลกระทบจากการถูกบูลลี่ ส่งผลให้เด็กกว่า 42.9% คิดโต้ตอบ หรือต้องการเอาคืน สอดคล้องกับข้อมูลของ Ditch the Label ที่ได้ทำการสำรวจการบูลลี่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักร ในปี 2016 ที่พบว่า คนที่เคยเจอประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งมาก่อน มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งคนอื่นต่อ 

  • ปัญหาชุมชน

อีกหนึ่งจุดบ่มเพาะที่ทำให้เด็กก่อความรุนแรงจากการซึมซับสภาพแวดล้อมของสังคมที่ตนอยู่อาศัยหล่อหลอมให้เด็กกลายเป็นภาพสะท้อนของชุมชนนั้นๆ จากข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในช่วงเดือนตุลาคม 2563-มีนาคม 2564 พบว่า

> 79.1% อยู่ในชุมชนที่มีปัญหา

> 50.5% อยู่ในแหล่งยาเสพติด

> 32.9% อยู่ในแหล่งมั่วสุม

> 10.6% อยู่ในที่ทะเลาะวิวาทประจำ

Screen Shot 2567-03-07 at 13.33.13.png


  • ปัญหาการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย 

เด็กและเยาวชนไทยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง อาทิ การใช้สังคมออนไลน์ในการนัดรวมตัวหรือวางแผนทาสิ่ง ผิดกฎหมายร่วมกัน การเสพสื่อเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น คลิปรีวิวยาเสพติด กัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดจนการเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถคัดกรองและเลือกรับสื่อได้เท่าที่ควรจึงอาจทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบตามมาได้

จากข้อมูลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ได้วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเด็กที่เคยก่ออาชญากรรม พบว่า เกิดจากการเสพสื่อที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมโดยเฉพาะสื่อบนสังคมออนไลน์ โดยเนื้อหาประเภทรถซิ่งและแต่งรถ มีสัดส่วนมากที่สุด 82.6% ประเภทการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย อาทิ รุมตบกัน ยกพวกตีกัน 65.9% ซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เนื้อหาที่เสพสูงถึง 57.6% 

  • ปัญหาทางจิตเวช หรือการใช้ยาเสพติด 

โดยพฤติกรรมความรุนแรงบางประเภทมีสาเหตุจากอาการทางจิตเวชได้ อาทิโรคบุคลิกแปรปรวน (Personality Disorder) โรคพฤติกรรมเกเร (Conduct Disorder) โรคไซโคพาธ (Psychopaths) ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมรุนแรงมากขึ้นได้

โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคจิตเวช คือการใช้ยาเสพติด จากข้อมูลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ได้สำรวจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการก่ออาชญากรรม 2559 – 2563 พบว่า เด็กและเยาวชนที่ก่อคดีความรุนแรงเกี่ยวกับเพศ และอาวุธและวัตถุระเบิดกว่า 83.1% และ 85.3% เคยกระทำความผิดในโรงเรียนเกี่ยวกับการใช้สารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่


การรับโทษทางอาญาของเด็กและเยาวชนในต่างประเทศ 

การพิจารณาความผิดของเด็กในบางประเทศ ให้ความสำคัญกับลักษณะวิธีการกระทำความผิดที่มีความรุนแรงโหดร้ายและระดับความเสียหายประกอบการพิจารณาร่วมด้วย เช่น

  • จีน

> กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องรับโทษทางอาญา

> เด็กอายุ 12–14 ปี ต้องได้รับโทษทางอาญา หากฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาด้วยวิธีการอันทารุณโหดร้าย หรือทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนาด้วยวิธีการอันทารุณโหดร้ายจนนำไปสู่การเสียชีวิตหรือทุพพลภาพร้ายแรง

> เด็กอายุ 14–16 ปี อาจถูกลงโทษทางอาญาได้ หากจงใจก่ออาชญากรรมร้ายแรง เช่น การฆาตกรรมและการข่มขืน

  • สิงคโปร์

> เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ถูกตั้งข้อหาอาชญากรรม

> เด็กอายุ 10–12 ปี สามารถมีความผิดทางอาญาได้ โดยการลงโทษขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ที่พิจารณาวุฒิภาวะของเด็กขณะกระทำความผิดเป็นหลัก

> เด็กอายุ 14 - 15 ปี หากกระทำความผิด ผู้ปกครองจะต้องร่วมรับผิดชอบในการกระทำของบุตรหลานด้วย เน้นการควบคุม ปรับพฤติกรรม ฟื้นฟู

> อายุ 16 ปีขึ้นไป หากกระทำผิดอาญาร้ายแรง อาจจำคุกตลอดชีวิตได้

  • สหรัฐอเมริกา 

มลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายเฉพาะของตนเองและการตัดสินโทษขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในแต่ละมลรัฐ เช่น

> มิชิแกน หากเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี กระทำความผิด จะไม่ถูกลงโทษด้วยการกักขังหรือจำคุก แต่จะให้มีการฝึกอบรม การดูแลในสถาบันดูแลเด็ก สถานรับเลี้ยงเด็กที่ เหมาะสมภายใต้ การกำกับดูแลของศาล

> แต่ถ้าอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความประพฤติที่เป็น 'ภัยคุกคาม' ต่อสังคม ศาลสามารถลงโทษให้จำคุกหรือสถานที่คุมขังอื่นสำหรับผู้ใหญ่ได้

> กำหนดให้ผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เช่น กรณีที่เด็กอายุ 15 ปี กราดยิงในโรงเรียนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 7 คน ในปี 2021 โดยในปี 2023 ศาลตัดสินให้ผู้ก่อเหตุต้องถูกจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ต้องรอลงอาญา ขณะที่แม่ของผู้ก่อเหตุ มีความผิดในข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา จากการที่ปล่อยให้ลูกไปก่อเหตุกราดยิงในโรงเรียน โดยอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี 



ที่มา: สภาพัฒน์ฯ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2566, ศูนย์ทนายฯ