ไม่พบผลการค้นหา
'สามารถ' แนะรัฐทบทวนการสั่งปิดรถไฟฟ้าเหมาะสมหรือไม่ ชี้ 4 วัน รายได้ลดกว่า 22 ล้านบาท รัฐต้องชี้แจงประชาชนว่าเหตุใดจึงสั่งปิดจนทำให้เขาเดือดร้อน ต้องเสียทั้งเงินและเวลาเพิ่มขึ้น

สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีมีการสั่งปิดให้บริการรถไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่า ปิดรถไฟฟ้า! "คนหาย-รายได้หด" เท่าไหร่? ถ้าอยากรู้ว่าในช่วงที่มีการสั่งปิดรถไฟฟ้า ผู้โดยสารรถไฟฟ้าลดลงมากมั้ย และรายได้จากค่าโดยสารลดลงเท่าไหร่ หาคำตอบได้จากบทความนี้

หลังจากกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้จัดชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2563 ปรากฏว่ามีผู้ไปร่วมชุมนุมกันอย่างเนืองแน่น เนื่องจากเขาสามารถเดินทางเข้าออกแยกราชประสงค์ได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยรถไฟฟ้า ทำให้สถานที่นัดหมายตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจึงเป็นที่ปรารถนาของกลุ่มเยาวชนปลดแอก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนัดหมายให้ไปชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์อีกในวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563 แต่ตำรวจได้บล็อกพื้นที่ไว้ก่อนถึงเวลานัดหมาย ทำให้กลุ่มเยาวชนปลดแอกต้องเปลี่ยนสถานที่นัดหมายไปที่แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่สามารถเดินทางเข้าออกได้โดยสะดวกรวดเร็วด้วยรถไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ส่งผลให้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจึงสั่งปิดการใช้รถไฟฟ้าโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ ได้มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบางสถานีในบางช่วงเวลาทันทีที่รู้สถานที่นัดหมายของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ป่าวประกาศเชิญชวนผ่านเพจด้วยข้อความที่น่าติดตาม อาทิ

"วันนี้ภายในเวลา 15.00 น. ขอให้ทุกคนเตรียมตัวประจำที่สถานีรถไฟฟ้าทุกแห่ง"

"15.00 น. โปรดเตรียมตัวให้พร้อมที่สถานีรถไฟฟ้าทุกสถานีใกล้คุณ วันนี้จะไปไหนดีน้าาาาา"

"วันนี้ประมาณบ่ายๆ เราจะนั่งรถไฟฟ้าไปไหนดีน้าาาาา วันนี้อยากไปไหนกัน"

สามารถ ระบุว่า ตนได้รับข้อมูลมาว่าการสั่งปิดรถไฟฟ้าทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงโดยเปรียบเทียบกับวันเดียวกันของสัปดาห์ก่อนหน้าเป็นตัวเลขกลมๆ ดังนี้

1. วันศุกร์ที่ 16 ต.ค. 2563 มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสถานีราชดำริ สถานีชิดลม สถานีสยาม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีราชเทวี และสั่งปิดรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสถานีสามย่าน ทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • 1.1 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 50,000 คน
  • 1.2 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีเพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 คน เหตุที่เพิ่มขึ้นก็เพราะว่าผู้โดยสารเปลี่ยนมาใช้เอ็มอาร์ทีแทนบีทีเอสที่ถูกปิดหลายสถานี ในขณะที่เอ็มอาร์ทีถูกปิดเพียงสถานีเดียวเท่านั้น

2. วันเสาร์ที่ 17 ต.ค. 2563 มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีทุกสถานี ทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • 2.1 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 250,000 คน
  • 2.2 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีลดลงประมาณ 150,000 คน

3. วันอาทิตย์ที่ 18 ต.ค. 2563 มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีพหลโยธิน 24 สถานีห้าแยกลาดพร้าว สถานีหมอชิต สถานีอารีย์ สถานีสนามเป้า สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีพญาไท สถานีราชเทวี สถานีอโศก สถานีอุดมสุข สถานีบางนา สถานีช่องนนทรี สถานีสุรศักดิ์ สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ และสั่งปิดรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสถานีหัวลำโพง สถานีลุมพินี สถานีสุขุมวิท สถานีพหลโยธิน และสถานีจตุจักร ทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • 3.1 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 150,000 คน
  • 3.2 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีลดลง 80,000 คน

4. วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563 มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีกรมป่าไม้ สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถานีเสนานิคม ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 85,000 คน ไม่มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที

รวมจำนวนผู้โดยสารลดลงในช่วงที่สั่งปิดรถไฟฟ้าบางสถานีและบางช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค. 2563 ประมาณ 757,000 คน ผมประเมินพบว่าค่าโดยสารเฉลี่ยเท่ากับ 30 บาท/คน ดังนั้น รายได้จากค่าโดยสารลดลงประมาณ 22.71 ล้านบาท

"จำนวนเงิน 22.71 ล้านบาท ไม่เป็นภาระหนักของรัฐที่จะต้องชดเชยให้เอกชนที่รับสัมปทาน แต่เป็นภาระหนักของรัฐที่จะต้องชี้แจงให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเข้าใจว่าเหตุใดรัฐจึงสั่งให้ปิดรถไฟฟ้าจนทำให้เขาเดือดร้อน ต้องเสียทั้งเงินและเวลาเพิ่มขึ้น เนื่องจากแม้ว่ารัฐได้สั่งให้ปิดรถไฟฟ้าแล้วก็ตาม แต่ผู้เข้าร่วมชุมนุมก็ยังคงมีมากอยู่ดี ดังนั้น รัฐควรทบทวนว่าการสั่งปิดรถไฟฟ้าเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมหรือไม่?" สามารถ ระบุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :