ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ สศช.รับยอดเงินกู้ 1 ล้านล้านแก้ปัญหาโควิดระลอกแรกใช้หมดแล้ว ชี้จะช่วยดึงให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้แค่ 2 เปอร์เซ็นต์

วันที่ 25 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ชี้แจงการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา อันเป็นเหตุผลในการออกพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท

ดนุชา กล่าวว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เดิมทีแบ่งเป็น 3 ส่วน

1.แผนงานด้านการสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท

2.แผนงานด้านการเยียวยาประชาชน วงเงิน 550,000 ล้านบาท

3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 400,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการโอนวงเงินกู้ส่วนที่ 2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไปใช้ในการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ทำให้ต้องมีการแยกส่วนของวงเงินกู้ใหม่ เป็นดังนี้

1.ด้านการสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท

2.ด้านการเยียวยาประชาชน วงเงิน 685,000 ล้านบาท

3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 270,000 ล้านบาท

ดนุชา เปิดเผยว่า สำหรับบการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้าน ช่วงที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว ดังนี้

1.ด้านการสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 25,825 ล้านบาท คงเหลือ 19,174 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอโครงการเข้ามาแล้ว โดยเป็นโครงการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา ปรับปรุงสถานพยาบาลต่างๆ ฯลฯ

2.ด้านการเยียวยาประชาชน วงเงิน 685,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 662,243 ล้านบาท มีทั้งโครงการเราไม่ทิ้งกัน การช่วยเหลือเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ในแต่ละรอบการเยียวยา ประชาชนได้รับการช่วยเหลือประมาณ 40 ล้านคน

3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 270,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 125,000 ล้านบาท คงเหลือ 144,846 ล้าน

ส่วนที่เหลือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ได้เห็นชอบในหลักการโครงการเยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจจนถึงปลายปี จำนวน 4 โครงการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินส่วนนี้

“ดังนั้น วงเงินกู้ 1 ล้านล้าน มีแผนการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว อาจเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยเท่านั้น มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 79.88%  ทั้งนี้ ประเมินจากเงินที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์” เลขาธิการ สศช. กล่าว

ติดตามงบสี่แสนล้าน สภาพัฒน์


ส่วนการออกพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้าน มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนี้

1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุง สถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท

2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือ ผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง วงเงิน 300,000 ล้านบาท

3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน หรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 170,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง