ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เผยปริมาณขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 ล้านชิ้นต่อวัน เช่นเดียวกับขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15% ยอดรวม 6,300 ตันต่อวัน

นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลให้ปริมาณขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้นแล้วกลายเป็นขยะพิษหรือขยะติดเชื้อ โดยมีปริมาณการทิ้งเพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศประมาณ 1.5-2 ล้านชิ้นต่อวัน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นถึง 1,500 ตันต่อวัน ที่พบถูกทิ้งอย่างถูกวิธีผ่านการทิ้งแบบคัดแยกขยะแล้ว ยังไม่รวมในส่วนที่ทิ้งไม่ถูกวิธีปะปนกับขยะชุมชนทั่วไป

อยากขอให้ประชาชนควรแยกการทิ้งหน้ากากอนามัยใย้แล้วออกจากขยะทั่วไป แล้วนำไปทิ้งในถังขยะสีแดง หรือถังขยะอันตราย เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปกำจัดด้วยการเผาผ่านเตาเผาชีวมวลที่มีระบบบำบัดมลพิษ มีอุณหภูมิความร้อนสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส สิ่งสำคัญประชาชนไม่ควรนำไปเผาเอง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและมลพิษทางอากาศ 

ขยะพลาสติกเพิ่มร้อยละ 15

นายวิจารย์ กล่าวว่า ขยะพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรีสร้างขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน จากปกติประเทศไทยผลิตขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 5,500 ตันต่อวัน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นถึง 1,500 ตันต่อวัน จึงอยากขอความร่วมมือให้ประชาชนและผู้ประกอบการลดการใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น หรือปฏิเสธการใช้พลาสติกบางชนิด หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อลดการเพิ่มหรือสะสมของปริมาณขยะพลาสติกที่จะส่งผลต่อการกำจัดในอนาคต

มลพิษทางอากาศลด 

ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ย้ำว่า สถานการณ์โควิด -19 ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม หลังมนุษย์ลดการทำกิจกรรมลงและทำงานอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะปริมาณรถยนต์บนท้องถนนลดลง 

ขณะที่พื้นที่ท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติหลายแห่งเริ่มกลับมาฟื้นความสมบูรณ์ เช่น กรณีมีเต่ามะเฟือง เต่าทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขึ้นมาวางไข่บนชายหาดแถวจังหวัดพังงาและภูเก็ตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังการท่องเที่ยวซบเซาทำให้มีนักท่องเที่ยวบนชายหาดลดลง ตนมองว่าช่วงเวลานี้เป็นจังหวะเหมาะที่รัฐบาลต้องวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศและการท่องเที่ยวให้เป็นระบบและจำกัดควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว เพื่อป้องกันหากสถานการณ์การท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติอาจจะทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอีกครั้ง