ไม่พบผลการค้นหา
‘ปริญญา' มองรัฐประหารไทย เกิดซ้ำซากเพราะตุลาการรับรอง เสนอทางออกทำลายวงจรอุบาทว์ ยกเลิก ม.279 ทำให้ประกาศ คสช.ไร้การรับรอง ด้าน 'โภคิน' หนุนแนวทางลบล้างรัฐประหารของ 'ปริญญา' เชื่อประชาชนคือผู้เสียหาย 'ธงทอง' มองปลดล็อกรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทความวิชาการหัวข้อ "การทำให้รัฐประหารหมดไปด้วยมาตรการทางกฎหมาย และการเปลี่ยนบรรทัดฐานของศาล ในวาระครบรอบ 90 ปี การประกาศใช้ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475" โดยมีผู้ร่วมนำเสนอ และวิจารณ์ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดย ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า หัวข้อสำคัญที่นำเสนอเพราะในวันนี้เมื่อ 90 ปีที่แล้ว อำนาจสูงสุดในประเทศเป็นของประชาชนจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตยไม่ประสบผลสำเร็จในไทย เพราะเรามีรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ 13 ครั้ง และยกเลิกรัฐธรรมนูญไป 20 ฉบับ 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การรัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อปี 2557 ไม่เรียกว่าครั้งสุดท้าย การล้มล้างรัฐธรรมนูญถือเป็นความผิดร้ายแรงในกฎหมายอาญามาตรา 113 มีโทษสูงสุดคือ ประหารชีวิต แต่ไม่มีการบังคับมาตรานี้เพราะเหตุผลสำคัญคือ การรัฐประหารได้รับการรับรองจากฝ่ายตุลาการ ว่ายึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การทำให้รัฐประหารหมดไป หัวใจสำคัญอยู่ที่ฝ่ายตุลาการที่ต้องเลิกรับรองรัฐประหาร แม้ว่าในการปฏิบัติทำไม่ได้ เพราะการทำรัฐประหารมีความซับซ้อนในการหาทางรับรองเยอะมากขึ้น นักกฎหมายไปช่วยคณะรัฐประหาร หาหนทางที่ปกป้องจนการแก้ปัญหานี้ทำได้ยาก เมื่อคดีไปถึงศาล คณะปฏิวัติก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมีการออกธรรมนูญชั่วคราวหลังการรัฐประหาร

ปริญญา อธิบายว่า การรัฐประหารมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเรียกว่า ปราบดาภิเษก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า 'รัฐธรรมนูญจารีต' แต่เมื่อมีพ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองเมื่อปี 2475 สิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญจารีต ถูกยกเลิกไป แต่งบรรทัดฐานของศาลฎีกาที่รับรองการรัฐประหารเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2496 การทำให้รัฐประหารหมดไป ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญจารีต (Uncodified Constitution) แต่การที่จะไปเขียนรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวให้ห้ามรัฐประหารนั้นทำได้ยาก เพราะรัฐธรรมนูญปี 2517 ที่ระบุว่า นิรโทษกรรมผู้รัฐประหารไม่ได้ ก็ถูกล้มล้างไปเมื่อรัฐประหารปี 2519 

ผศ.ดร.ปริญญา อธิบายว่า การรัฐประหารทั้ง 13 ครั้งในสังคมไทย แบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่ การรัฐประหาร 2490, 2494, 2500 และ2501 เป็นการรับรองผู้รัฐประหาร ด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 

ขณะที่ช่วงที่สอง ได้แก่รัฐประหารปี 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี จนเป็นที่มาของเหตุการณ์เมื่อปี 2516 และการรัฐประหารปี 2519 ไปจนถึงการรัฐประหารซ้ำในปี 2520 เป็นการรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และการรัฐประหารในช่วงที่สามคือปี 2534, 2549 และปี 2557 เป็นการรับรองชอบด้วยรัฐธรรมนูญสูงสุด ไม่เพียงกฎหมายเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญถาวรก็รับรอง

รัฐประหาร คสช ประยุทธ์ 9D1305F6-F802-43C0-AA0B-FC660C83EECB.jpeg

ผศ.ดร.ปริญญา เสนอแนวทางการเปลี่ยนบรรทัดฐานของฝ่ายตุลาการว่า เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะพบว่า รับรองแค่การรัฐประหารปี 2557 เพราะมีสถานะชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 279 ทำให้ประกาศคำสั่งของผู้ทำการรัฐประหารใน 12 ครั้งก่อนหน้าไม่มีผลอีกต่อไป และการรับรองรัฐประหาร ฝ่ายศาลห้ามคิดแค่ว่า รับรองสิ่งที่เกิดไปแล้ว แต่ผลทางกฎหมายมันคือ การออกใบอนุญาตให้มีการรัฐประหารในอนาคต ถ้าปฏิวัติสำเร็จเมื่อไหร่ ศาลจะรับรอง เรื่องนี้จึงสำคัญ และมองว่า ต้องมีกระบวนการบัญญัติจะด้วยถ้อยคำอย่างไร และกระบวนการอย่างไรบ้างก็ตาม แต่ต้องทำ

ปริญญา กล่าวว่า เพื่อให้ประชาธิปไตยของไทยพ้นไปจากวงจรอุบาทว์ และตั้งหลักอย่างมั่นคง ภายใต้หลักการปกครองของประชาชน และหลักกฎหมายอย่างแท้จริงเสียที ต้องทำให้รัฐประหารหมดไป สรุปได้เป็น 5 ข้อดังนี้ 

 1. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองเฉพาะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้รับรองคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้

2. รัฐธรรมนูญที่เคยรับรองไว้ในการรัฐประหาร ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีสถานะชอบด้วยกฎหมาย

3. สำหรับประกาศของคสช. ที่เป็นพ.ร.บ. สามารถที่จะใช้กระบวนการควบคุมกฎหมาย ไม่ให้ขัดรัธรรมนูญ ถ้ามันไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวสิทธิเสรีภาพ และยกเลิกมาตรา 279 ทำให้ประกาศของคสช. ไม่มีการรับรองอีกต่อไป 

4. เอาประกาศของคณะรัฐประหารที่ยังมีผลทางกฎหมาย มายกเลิกด้วย พื่อให้ประกาศ และคำสั่งหมดไปจากระบบกฎหมายของประเทศไทย 

  5.เสนอการตรารัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐประหาร และรับรองโดยสัญญาประชาคม 

'โภคิน' หนุนข้อเสนอ 'ปริญญา' ทำลายวงจรรัฐประหารให้หมดสิ้น

ด้าน โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา เชื่อว่าหากศาลไม่รับรอง การทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นวนไปวนมาในประเทศไทยคงหมดไปนานแล้ว ก่อนยกตัวอย่างการทำรัฐประหาร 10 จาก 13 ครั้ง ว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่ประชาชนสามาถฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนทำผิดได้ ครั้นเมื่อปี 2514 อดีตประธานรัฐสภา อุทัย พิมพ์ใจชน ก็ได้ไปฟ้องศาล ปรากฏศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า อุทัย ไม่ใช่ผู้เสียหาย หลังจากนั้นกลับโดนจับขังคุก 10 ปีเหตุปั่นป่วนการเมือง

โภคิน ยังกล่าวถึงในช่วงปี 2534 ที่ถูกรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งขณะนั้นมีนักการเมืองไม่ดีเยอะ ถูกตรวจสอบทรัพย์สินมากมายว่าได้มาอย่างสุจริตหรือไม่ ปรากฏมีการออกกฎหมายย้อนหลัง ทำตนโดนตัดสิทธิทางการเมืองไป 5 ปี คนไม่เกี่ยวข้องกับการโดนยุบพรรคก็โดนด้วย 

โภคิน ยังยกตัวอย่างอีกกรณีในปี 2549 ที่ ฉลาด วรฉัตร อดีต ส.ส.ตราด พรรคประชาธิปัตย์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านการรัฐประหาร ก็ได้ไปฟ้องศาล สุดท้ายศาลพิพากษายืนคนยึดอำนาจไม่มีความผิดเหมือนเดิม ต่อมาในปี 2557 กลับมาฟ้องร้องอีกครั้ง ก็ยังคงยกฟ้องเหตุเดิมคือประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหาย รัฐบาลเท่านั้นคือผู้เสียหาย ก่อนตั้งคำถามว่า "ใครมันจะฟ้องตัวเองว่าทำผิดฐานกษฏ" ทุกอย่างดูซับซ้อนและไม่ชัดเจน

อดีตประธานรัฐสภา ยังกล่าวเห็นด้วยกับข้อเสนอแนวทางแก้ไขของ ผศ.ดร.ปริญญา ที่จะทำให้รัฐประหารหมดไปจากประเทศไทย ด้วยมาตรการทางกฎหมายและบรรทัดฐานของศาล ก่อนยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่ารัฐบาลที่มีกองหนุนเป็น ส.ว. 250 คน คงจะไม่มีทางยกเลิกอะไรที่เขาเสียประโยชน์ ฉะนั้นทุกอย่างคงอยู่ที่ความกล้าหาญของศาลเท่านั้น

"ต้องมีรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน ประชาชนทุกคนคือผู้เสียหาย เชื่อว่าทุกคนเรียนรู้ และฉลาดพอที่จะตัดสินใจได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี" โภคิน กล่าวทิ้งท้าย

'ธงทอง' ชี้สูตร 'ปริญญา' เป็นไปได้ยาก แต่หนุนให้ชำระบัญชี รปห.

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง แสดงความเห็นว่า การยึดอำนาจช่วงใหม่ๆ จะมีการใช้อำนาจเต็มรูปแบบ คณะรัฐประหารมักจะไม่ออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากนั้นจะมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้วใช้ในระยะยาว สุดท้ายจะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แก้ไขได้ยาก

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ยังมองว่าแนวทางของ ผศ.ดร. ปริญญา เป็นไปได้ยาก ต้องดูว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปลดล็อคอะไรบ้าง ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดำเนินการโดยรัฐสภา ที่ต้องใช้จำนวนผู้เห็นชอบที่เป็นการปิดประตูตายไปแล้ว แต่เห็นด้วยว่าการชำระบัญชีรัฐประหารครั้งเก่า ต้องมีการนำมาพิจารณาและปรับปรุง แม้จะไม่มีผลอะไรกับปัจจุบันมากนัก นอกจากนี้ยังมองว่าการที่ตัดสินว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถเป็น Positive Law ที่หลักสากลยอมรับ โดยทั่วโลก เช่นสหภาพยุโรปมีการวิเคราะห์ความเสียหายของรัฐประหารที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย 

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ระบุว่า แม้จะเป็นความหวังจากตุลาการเสียงข้างน้อยแค่ไม้ขีดไฟ ก็ยังถือว่าเป็นความหวัง ขอให้ไฟนั้นอย่าดับไป อย่าให้ผู้ศึกษากฎหมาย ท่องกฎหมายเมื่อปี 2490 อยู่ต่อไป ต้องมีการพัฒนาการ