ไม่พบผลการค้นหา
คนบันเทิง ร่วมติดแฮชแท๊ก #สมรสเท่าเทียม ชวนแสดงความคิดเห็นแก้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมเสมอภาคและไร้ซึ่งการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานทางเพศ

เหล่าคนบันเทิง โดยเฉพาะกลุ่มนักแสดงวัยรุ่นจากซีรีส์สุดฮอต ต่างออกมาโพสต์ในโซเชียลส่วนตัวเชิญชวนให้แสดงความคิดเห็น ต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ เพื่อแก้ไขกฎหมายสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายสร้างความเสมอภาคให้กับทุกเพศ

โดย 2 นักแสดงวัยรุ่นดัง ไบรท์ วชิรวิชญ์ ชีวอารี และ วิน เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร จากซีรีส์ เพราะเราคู่กัน ได้โพสต์ผ่าน ไอจีสตอรี่ เชิญชวนให้ร่วมแสดงความคิดเห็น

ไบร์ท วินไบร์ท วิน

ขณะที่ คู่นักแสดง คริส พีรวัส แสงโพธิรัตน์ และ สิงโต ปราชญา เรืองโรจน์ ได้ทวีตเชิญชวนให้เข้าไปแสดงความเห็น

คริส พีรวัส

ทั้งนี้ สิงโต ปราชญา ยังได้ทวีตตัวอย่างของการเข้ามาแสดงความเห็นแก้กฎหมาย จะสามารถช่วยแก้ปัญหา อำนาจการตัดสินใจทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันนั้นมีน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่สมรสตามกฎหมายและญาติสายตรงกรณีคู่สมรสเพศเดียวกัน

เช่นเดียวกับ นักแสดงหนุ่ม เต ตะวัน วิหครัตน์ ที่นอกจากจะแชร์ข้อมูล ร่วมกันเข้าไปแสดงความคิดเห็น เข้ายังทวีต ประโยค Love has no rules ,So why restricted by law? #สมรสเท่าเทียม ซึ่งมีความหมายว่า ความรักไม่มีกฎเกณฑ์ เหตุใดจึงถูกกฎหมายจำกัด

2 นักแสดง 'วอร์ วนรัตน์ รัศมีรัตน์' และ 'หยิ่น อานันท์ ว่อง' จากซีรีส์ “กลรักรุ่นพี่” ได้มาเชิญชวนผ่านทวิตเตอร์

โดย วอร์ วนรัตน์ ได้แสดงความเห็น เรื่องนี้ในทวิตเตอร์ว่า

"คือมันควรเป็นเรื่องธรรมดาที่สุดขั้นพื้นฐานอยู่เเล้วจริงๆนะ การสมรสมันไม่ได้หมายถึงการเเต่งงานของคู่รักอย่างเดียว เเต่มันคือการได้มาซึ่งสิทธิต่างๆทางกฎหมายด้วย ในเมื่อกฎหมายถูกสร้างมาเพื่อทุกคนในสังคม สิทธินี้ก็ควรเป็นของทุกคนเช่นกัน"

ขณะที่ หยิ่น อานันท์ ได้ติดแฮชแท๊ก #สมรสเท่าเทียม พร้อมความเห็น "อย่าตัดสินใคร หรือ ให้ค่าคน ด้วยเพศเลยครับ"

"ปลื้ม ปุริม รัตนเรืองวัฒนา" ที่โด่งดังมาจากซีรีส์ “My Dear Loser รักไม่เอาถ่าน” มีความเห็นในเรื่องนี้ว่า

"สภาพบุคคลเริ่มขึ้นเมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก มนุษย์คนนึงไม่ว่าจะเพศไหน ก็คือมนุษย์ ดังนั้นแล้วถ้ามองแบบนี้การปฏิบัติก็ควรจะปฏิบัติเหมือนกันทุกเพศ ไม่ควรตั้งกฎเกณฑ์หรือมีข้อบังคับอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป มองให้เป็นเรื่องของบุคคลกับบุคคลเถอะครับ #สมรสเท่าเทียม"

เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ สมาชิกวง BNK48 ได้ร่วมเชิญชวนแฟนๆ ผ่านแฟนเพจ ให้เข้าไปแสดงความคิดเห็น

ใบเฟิร์น อัญชสา มงคลสมัย ร่วมแบ่งปันข้อมูล ในการแก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส ผ่านทวิตเตอร์ โดยเธอเองนั้น ยังทวีตว่า "ช่วยเรียกร้องสิทธิให้มนุษย์ด้วยกันอย่าให้แพ้ตอนเรียกร้องให้สุนัขเลยนะคะ"

ใบเฟิร์น อัญชสา

ซึ่งยังมีคนบันเทิง และคนดังมากมาย ออกมาเชิญชวน และติด #สมรสเท่าเทียม ในโซเชียลส่วนตัว เพื่อร่วมเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มีดังนี้

1. การหมั้น ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ทำการหมั้นกันได้ และเสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น "ผู้หมั้น" และ "ผู้รับหมั้น" แทนคำว่า "ชาย" และ "หญิง" และการหมั้นที่สมบูรณ์ต้องให้ผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น เรื่องสิทธิ์และหน้าที่ระหว่างคู่หมั้น ยังคงหลักการเดิม

2. การสมรส ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า "ชาย" หรือ "หญิง" เป็น "บุคคล" เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น

  • บุคคลซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาจะทำการสมรสกันมิได้
  • บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้
  • การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองยินยอมเป็นคู่สมรส
  • คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส และช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถและฐานะของตน
  • การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
  • การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิ์ได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส
  • การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งกรณีศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
  • การรับบุตรบุญธรรม

3. คู่สมรสอันเป็นบุคคลทั้งสองคน ไม่ได้จำกัดแค่เพศชายและหญิ มีสิทธิ์หน้าที่ต่อกันตามกฎหมาย รวมไปถึงสิทธิ์ในการรับมรดก การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน

4. คู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็สามารถจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

สำหรับประเด็นเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มีดังนี้

1. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น "เพศเดียวกัน" และ "ต่างเพศ" สามารถทำการหมั้นกันได้หรือไม่

2. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น "เพศเดียวกัน" หรือ "ต่างเพศ" สามารถสมรสกันได้ ตามกฎหมายหรือไม่

3. ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือไม่ (ปัจจุบัน 17 ปี)

4. ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศ มีสิทธิ์ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหมือนสิทธิ์ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาหรือไม่

ล่าสุด วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 เวลา 19.15 น. พบว่า ขณะนี้ผู้แสดงความคิดเห็นแล้ว 45,400 คน สำหรับผู้ที่สนในแสดงความคิดเห็น ต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ที่ แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ 

สมรสเท่าเทียม