ทีมนักโบราณคดีอียิปต์เปิดเผยการค้นพบโรงผลิตเบียร์ยุคโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก สามารถนับย้อนได้ถึง 5,000 ปียุคก่อตั้งราชวงศ์ที่หนึ่ง (First Dynastic Period) หรือตรงกับช่วง 3,150 ถึง 2,613 ปีก่อนคริสตกาล
รายงานระบุว่า การค้นพบนี้มีขึ้นโดยความร่วมมือของทีมนักโบราณคดีของอียิปต์และสหรัฐฯ โดยมุสตาฟา วาซิรี เลขาธิการสภาโบราณวัตถุของอียิปต์ เผยว่า โรงผลิตเบียร์ยุคโบราณนี้ถูกพบในนอกอาบีดอส ในเขตปกครองโซฮักทางตอนใต้ของกรุงไคโร ประเมินว่ามีอายุนับย้อนกลับไปในยุคของกษัตริย์นาร์เมอร์ ซึ่งเป็นฟาโรห์จากยุคก่อนตั้งราชวงศ์ที่หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รวมอาณาจักรอียิปต์บนและอียิปต์ล่างเป็นปึกแผ่น
ดร.แมตธิว อดัมส์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กหัวหน้าทีมวิจัยร่วมกับ เดบบราห์ วิสแซก จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเชื่อว่า โรงผลิตเบียร์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีฝั่งพระศพของกษัตริย์ที่ล่วงลับไปก่อนหน้านั้น โรงเบียร์โบราณแห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 8 ส่วน ประกอบด้วยหม้อดินเผาประมาณ 40 ใบ เรียงเป็นสองแถว หม้อแต่ละใบถูกตั้งขึ้นโดยมีแท่งดินเหนียวหลายแท่งคอยประคองล้อมรอบหม้อสำหรับใช้ในการผสมเมล็ดพืชและน้ำก่อนนำไปต้มสำหรับบ่มเบียร์ สามารถผลิตได้ถึง 22,400 ลิตรต่อครั้ง
"โรงงานโบราณอาจถูกสร้างขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงในพื้นที่นี้ เพื่อใช้ผลิตเบียร์สำหรับพระราชพิธีต่างๆ โดยเฉพาะประกอบพิธีฝังพระศพอดีตฟาโรห์ในอดีตหลายพระองค์ของอียิปต์ เชื่อมโยงกับก่อนหน้านี้ที่นักโบราณคดีพบหลักฐานการใช้เบียร์เพื่อพิธีบวงสรวงหรือบูชายัญ" คำแถลงจากกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณคดีอียิปต์ระบุ
สำหรับเมืองอาบีดอสถือเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่งของอียิปต์ ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการค้นพบวัตถุโบราณล้ำค่ามากมาย ทั้งยังเป็นที่ตั้งของวิหารโบราณจากยุคฟาโรห์โบราณอันสมบูรณ์หลายแห่ง อาทิ วิหารฟาโรห์เซติที่ 1
อย่างไรก็ตาม การพบแหล่งโบราณคดีรวมถึงวัตถุโบราณชิ้นใหม่ๆ ได้สร้างความหวังให้อียิปต์ในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19