ไม่พบผลการค้นหา
อย่าสยบยอมหน่วยงานความมั่นคง! ‘พิจารณ์’ พบ พิรุธอื้อจัดซื้อครุภัณฑ์ของ ‘ศรชล.’ หมวกแพงกว่าท้องตลาดใบละ 40,000 บาท-เครื่องช่วยหายใจแพงกว่าเครื่องละ 23,500 บาท ซัด อนุฯ ไม่มีมาตรฐานการทำงาน ย้อนถาม เป็นตัวแทนประชาชน ทำไมเอาใจหน่วยงานความมั่นคง

ที่อาคารรัฐสภา พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ และ ICT และ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส. จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการฯ โดยวันนี้เป็นการพิจารณาในส่วนของหน่วยงาน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. ที่มี พลเรือโทอำนวย ทองรอด ผู้ช่วยเลขาธิการ ศรชล. เป็นผู้มาชี้แจง ทั้งนี้การพิจารณาในชั้นอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ และ ICT วันนี้มีประเด็นข้อชวนสงสัยและข้อกังขาเป็นอย่างมาก ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเวลาที่เป็นการพิจารณาของหน่วยงานทางด้านความมั่นคง

โดยพิจารณ์ กล่าวว่า การปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ทำอย่างมีบรรทัดฐานเท่ากันหรือไม่ เพราะในการพิจารณาพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างหลายรายการไม่มีความสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่ในการพิจารณากลับไม่ให้หน่วยงานชี้แจงจนสิ้นความสงสัย พยายามตัดบท ไม่ปรับลดโครงการที่มีปัญหา และให้หน่วยงานผ่านการพิจารณาไปอย่างน่ากังขา

"การใช้ดุลยพินิจพิจารณางบประมาณของคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์และ ICT มีความไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก เราพยายามตั้งข้อเสนอสังเกตให้ที่ประชุมพิจารณาในรายละเอียดหลายโครงการ แต่กรรมาธิการส่วนใหญ่ที่เหลือทั้งหมด กลับตัดสินใจปรับลด งบประมาณในลักษณะภาพรวม เช่น หน่วยงาน ศรชล. ที่มีงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 192.5 ล้านบาท แต่อนุกรรมาธิการกลับเสนอปรับลดเพียงแค่ 4 ล้านบาทเท่านั้น" พิจารณ์ ระบุ

พิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างที่เราพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างมีปัญหาคือ มีการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องกระตุกหัวใจ (AED) จำนวน 45 เครื่อง ตั้งงบต่อเครื่องที่ 100,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 4,500,000 บาท แต่เมื่อดูใน Shopee กลับพบว่า ซื้อแค่เครื่องเดียว ราคาเพียง 76,500 บาท, หมวกป้องกันกระสุนและสะเก็ดระเบิดตามมาตรฐาน NIJ 0106.01 Level 3A ตั้งงบต่อหน่วยไว้ใบละ 50,000 บาท แต่เมื่อลองไปค้นราคาดูในท้องตลาด กลับพบว่ามีราคาเพียงใบละ 9,800 บาทเท่านั้น อีกทั้ง ศรชล. ยังใช้รูปภาพ รูปเดียวกันมาของบประมาณด้วย”


พบความผิดปกติข้อมูลใบเสนอราคา

นอกจากนี้ จิรัฏฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากราคาจัดซื้อที่สูงผิดปกติแล้ว ข้อมูลใบเสนอราคาก็พบความผิดปกติหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการไม่ลงวันที่ในใบเสนอราคา เขียนรายละเอียดรายการจัดซื้อมาเพียง 1 บรรทัด มีคู่เทียบราคาเพียงแค่รายเดียวเท่านั้น และในหลายรายการ พบว่าบริษัทที่นำมาเป็นคู่เทียบราคาไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือไม่มีศักยภาพ บางบริษัทเป็นบริษัทขายน้ำมันเครื่องยนต์ แต่มาเสนอขาย เครื่องกระตุกหัวใจ, เสื้อเกราะ, เรือท้องแข็ง ฯลฯ และในบางบริษัทเป็นบริษัทที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 นี้เอง อีกทั้งในงบการเงินไม่มีรายได้เลยแม้แต่บาทเดียว ในปี 2562- 2563

"เราตั้งข้อสงสัยว่างบประมาณเหล่านี้เสนอเข้ามาได้อย่างไร ทั้งที่น่าจะผิดระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 อย่างชัดเจน" นายจิรัฏฐ์ กล่าว


พ้อเดินหน้าเพียงพรรคเดียว

ด้าน พิจารณ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ความผิดปกติเหล่านี้ทำให้ตนรู้สึกว่าเป็นฝ่ายค้านที่ทำการตรวจสอบงบประมาณ ของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) อยู่เพียงพรรคเดียวในคณะอนุกรรมาธิการเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ได้ตั้งคำถามต่อความผิดปกติของงบประมาณที่ขอมาในที่ประชุมเพื่อให้ทางหน่วยงานชี้แจง และตนยังได้เสนอปรับลดงบประมาณที่ยอด 20 ล้านบาท แต่อนุกรรมาธิการส่วนใหญ่กลับไม่ใส่ใจที่จะพิจารณาในรายละเอียด อีกทั้งหน่วยงานก็ยังไม่สามารถตอบคำถามถึงข้อกังขาในการจัดซื้อจัดจ้างเหล่านี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น อนุกรรมาธิการท่านหนึ่งได้เสนอปรับลดเพียงแค่ 4 ล้านบาท เท่านั้น

พิจารณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานมีการของบประมาณจัดซื้อที่เกินราคาตลาดไปหลายรายการ แต่ทางอนุกรรมาธิการฯ กลับเสนอตัดเพียงแค่ 4 ล้านบาทเท่านั้น โดยทาง ศรชล.ก็เลยรีบตอบยินดียอมให้ปรับลดตามจำนวนแค่ 4 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานของอนุกรรมาธิการคณะนี้ ก็ใช้วิธีถามความสมัครใจจากหน่วยงานว่าให้มีการปรับลดเท่าใด ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าหน่วยงานอาจจะตั้งงบประมาณมาเผื่อไว้แล้ว เมื่ออนุกรรมาธิการฯ ขอให้ตัด ก็ยอมตัดแต่โดยดีหากไม่เกินไปกว่ายอดเงินที่ตัวเองตั้งเผื่อถูกตัด