ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อนุมัติให้ 'กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ-หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง' นำเข้า LNG รองรับการใช้ผลิตไฟฟ้า

สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่าที่ประชุม กกพ.วานนี้ (20 พ.ค.) เห็นชอบให้ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับการใช้ผลิตไฟฟ้า ส่วนรายอื่น ๆ ให้เสนอข้อมูลเพิ่มเติม โดยการอนุญาตช่วงนี้มีความเหมาะสมจากราคาตลาดโลกตกต่ำ และการนำเข้าไม่กระทบสัญญาเก่าที่มีอยู่แล้ว โดยปัจจุบันผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่ง (Shipper) มี 2 ราย คือ บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

รายงานข่าวจากสำนักงาน กกพ.ระบุว่า ข้อมูลที่กัลฟ์เสนอนำเข้าเอง คือ จะนำเข้า LNG มาใช้กับโรงไฟฟ้าเอสพีพี (โรงไฟฟ้าผู้ผลิตเอกชน) รายเล็ก 19-20 แห่ง ซึ่งเป็นส่วนที่นอกเหนือสัญญาซื้อขั้นต่ำสุด (Minimum take) ที่มีไว้แล้วกับ ปตท. ขณะที่หินกองฯ โฮลดิ้งนั้น นำเข้ามาใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ได้มีสัญญาซื้อขายก๊าซกับ ปตท.ก่อนหน้านี้ โดยโครงการนี้มีเป้าหมายจะนำมาใช้ในโครงการหินกอง 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งถือหุ้นโดย GULF 49% บมจ.ราชกรุ๊ป RATCH 51% ตามกำหนดจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์โรงแรกไตรมาส 1/2567 และโรงที่ 2 ในปี 2568

ขณะที่ผู้ขอใบอนุญาตรายอื่น เช่น กลุ่มบีกริมนั้น ยังมีข้อมูลเสนอไม่ชัดเจน จะกระทบต่อสัญญาเดิมหรือไม่ จึงต้องขอความชัดเจน โดยปัจจุบันนี้ราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกอยู่ที่2-3 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู แต่ราคา Pool ที่ ปตท.จำหน่ายอยู่ที่ 6-7 ดอลลาร์/ล้านบีทียู เพราะใช้ราคาสัญญาระยะยาว หรือ Long Term LNG. สัญญาก๊าซในอ่าวไทยและเมียนมามาหารเฉลี่ยคำนวณที่มีราคาสูงกว่า เพราะผันแปรตามราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากได้ใบอนุญาต Shipper แล้ว ทั้ง 2 รายจะต้องไปเจรจาจองการให้บริการกับ PTT LNG ผู้ให้บริการคลังจัดเก็บและแปรสภาพ LNG จากของเหลวมาเป็นก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการจองใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก บมจ.ปตท. โดยการบริการและอัตราค่าบริการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กกพ.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :