ไม่พบผลการค้นหา
'Gintama : The Final' เปิดตัวสัปดาห์แรก ทำเงินได้ 130 ล้านบาท ขณะ 'Demon Slayer' จี้ 'Spirited Away' ล้มสถิติภาพยนตร์อนิเมชันที่ทำรายได้สูงสุดของโลก

หลัง 'ดาบพิฆาตอสูร' หรือ Demon Slayer เปิดตัวเวอร์ชันภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อ Demon Slayer: Mugen Train ไปเมื่อ 16 ต.ค. 2563 และครองแชมป์หนังทำรายได้สูงสุดประจำสัปดาห์ในญี่ปุ่นต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์

ล่าสุด ตามข้อมูลจาก Box Office Mojo 'Gintama : The Final' อนิเมชันที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อ 8 ม.ค.สามารถโค่นแชมป์ดังกล่าวได้ด้วยเม็ดเงินเปิดตัวสัปดาห์แรกสูงถึง 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินเกือบ 130 ล้านบาท 

gintama.jpg


'ซามูไร' ตกอับสู่สารพัดรับจ้าง

อนิเมชันเรื่องใหม่ที่ขึ้นมาทุบสถิติสุดร้อนแรงและกระแสนิยมมหาศาลจากทั่วโลกของดาบพิฆาตอสูรมีเนื้อเรื่องอ้างอิงมาจากมังงะยอดฮิตของ 'ฮิเดอากิ โซราจิ' ภายใต้ชื่อ 'กินทามะ' ที่เริ่มเปิดเรื่องตอนแรกในนิตยสารโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์ในปี 2546

เรื่องราวของ 'ซากาตะ กินโทกิ' อดีตซามูไรตกอับที่ผันตัวมาเปิดร้านรับจ้างสารพัดพร้อมผู้ช่วยอีก 2 คน ดำเนินเรื่องตลกร้าย เผ็ดร้อน และจิกกัดมากว่า 15 ปี ก่อนจะจบตอนสุดท้ายลงกับนิตยสารรายสัปดาห์เมื่อ 22 ก.พ. 2561

ทว่าเรื่องราวยังดำเนินต่อไปในนิตยสารย่อยของโชเน็งจัมป์ภายใต้ชื่อ 'Jump GIGA' อีกสักพัก ก่อนจะไปจบอย่างสมบูรณ์บนแอปพลิเคชัน 'กินทามะ' เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2562 กับจำนวนทั้งหมด 704 ตอน พร้อมสถิติยอดขายมากกว่า 55 ล้านเล่มทั่วโลกตลอดช่วงที่ผ่านมา

ถึงเนื้อเรื่องหลักจบไปแล้วอย่างสมบูรณ์ แต่ตำนานของ 'กินทามะ' ยังสืบทอดเนื้อหาเรื่องราวออกมาเป็นทั้งภาพยนตร์อนิเมชัน รวมไปถึงโปรเจกต์อนิเมชันต่อเนื่อง 2 ตอนพิเศษ ภายใต้ชื่อ Gintama The Semi-Final ซึ่งมีกำหนดฉายตอนที่ 1 บนเว็บไซต์ dTV ของญี่ปุ่นในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ก่อนจะตามมาด้วยตอนที่ 2 ในวันที่ 20 ม.ค. 


ตำแหน่งแข่งตำนาน 

แม้ตำแหน่งแชมป์รายสัปดาห์จะถูกโค่นไปแล้ว ทว่า 'ดาบพิฆาตอสูร' ที่เปิดตัวยังไม่ครบหนึ่งปีด้วยซ้ำกลับทำลายสถิติไปไกลมากแล้ว ทั้งการทำเงินไปสูงถึง 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ด้วยระยะเวลาเพียง 10 วัน

อนิเมชันเรื่องดังกล่าว ยังนับเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินถึง 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 2,900 ล้านบาท เร็วที่สุดในญี่ปุ่น แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง Spirited Away ของสตูดิโอจิบลิที่ต้องใช้เวลาถึง 25 วัน 

นอกจากนี้ รายได้รวมของ Demon Slayer: Mugen Train ยังส่งให้อนิเมชันเรื่องนี้ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งภาพยนตร์อนิเมชันที่มีรายได้สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจาก Spirited Away

หากนับถึงวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา Spirited Away มีรายได้รวมราว 383 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 11,500 ล้านบาท ขณะที่ Demon Slayer ทำรายได้ตามมาที่ 362 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10,800 ล้านบาท ทั้งที่เพิ่งปล่อยออกมาเพียง 4 เดือนเท่านั้น และยังไม่ได้ลงโรงภาพยนตร์ทั้งในจีน, ทวีปอเมริกาเหนือ รวมไปถึงอีกหลายประเทศทั่วโลก

ขณะที่ 'Your Name' ที่มีชื่อภาษาไทยว่า 'หลับตาฝัน ถึงชื่อเธอ' ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2559 รั้งอันดับที่ 3 ด้วยเม็ดเงินรวม 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 10,700 ล้านบาท

ดาบพิฆาตอสูร - รอยเตอร์ส

Demon Slayer ในเวอร์ชันการ์ตูน (มังงะ) ยังทำยอดขายทะลุ 100 ล้านเล่ม เมื่อคำนวณยอดรวมทั้งในฝั่งที่เป็นการ์ตูนเล่มและแบบออนไลน์ เดินตามรอยมังงะในตำนานอย่างทั้ง 'One Piece' และ 'Dragon Ball' 


อนิเมะ-มังงะ ไม่มีวันตาย  

ไม่ว่า 'กินทามะ' จะล้ม 'ดาบพิฆาตอสูร' ในสัปดาห์ของการเปิดตัว 'Spirited Away' อาจถูกโค่นตำแหน่งอนิเมชันที่ทำรายได้สูงสุดตลอดการจากฝีมือของ Demon Slayer: Mugen Train ชัยชนะที่แท้จริงปรากฏขึ้นชัดแล้วในมือของอุตสาหกรรม 'อนิเมชัน-มังงะ' ที่ครองใจผู้ชม/ผู้อ่านทั่วโลก 

รายงานจาก AJPEA ซึ่งเป็นสมาพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนิตยสารและสำนักพิมพ์ของญี่ปุ่นทั้งหมด ระบุในรายงานประจำปี 2563 ว่า อุตสาหกรรมมังงะโดยรวมเติบโตขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 420,000 ล้านบาท เมื่อพิจารณารายละเอียดย่อยลงไปพบว่า ในฝั่งอุตสาหกรรมการพิมพ์มียอดลดลง 4.3% ขณะที่ตลอดฝั่งดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 23.9% 

เมื่อพยายามหาเหตุผลว่าปัจจัยใดทำให้ 'อนิเมะ' ของญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากผู้ชม/ผู้อ่านทั่วโลกขนาดนี้ บทความหนึ่งจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่ตีพิมพ์ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 ยกตัวอย่างอนิเมชันรุ่นเก่าที่ยังเก๋าอย่าง 'กันดั้ม' มาอธิบาย

ผู้เขียนชี้ว่าเมื่อการ์ตูนแปลงสภาพไปสู่ภาวะที่เรียกว่า 'ความคิดสร้างสรรค์ร่วม' หรือภาวะที่ผู้เขียนการ์ตูนเปิดรับเรื่องราว ทิศทาง ไปจนถึงการดำเนินเรื่องจากแฟนการ์ตูน เมื่อนั้นการ์ตูนเรื่องนั้นไม่นับเป็นเพียงการ์ตูนธรรมดาอีกต่อไป แต่นับเป็น 'ผลผลิตของวัฒนธรรมประชานิยม' (pop-culture) ไปแล้ว 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อการ์ตูนธรรมดาได้ผสานรวมกับความหลงไหลของผู้อ่านจึงกลายมาเป็น 'สิ่งมีชีวิต' ของผู้คนที่หลงไหลและชอบในเรื่องราวของผลผลิตเหล่านี้ 

ลูฟี่
  • ตัวการ์ตูน 'ลูฟี่' จาก 'one piece' ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมปูนปั้นตกแต่งของวัดปริวาสราชสงคราม ประเทศไทย

ไม่เพียงแค่วงการมังงะและอนิเมะของญี่ปุ่นสามารถทำเงินมหาศาลให้กับพรรคพวกตนเองได้แล้ว ตัวการ์ตูนจากแต่ละเรื่องยังพาตัวเองไปร่วมหาเงินให้กับธุรกิจอื่นๆ ที่อาศัยความชื่นชอบของแฟนคลับเป็นตัวช่วยในการผลักดันยอดขายสินค้า อาทิ กรณีของร้านสะดวกซื้อลอว์สันที่ได้ลิขสิทธิ์นำภาพตัวการ์ตูนจากเรื่องดาบพิฆาตอสูรเข้าไปอยู่ในสินค้ามากกว่า 50 ประเภทของร้านสะดวกซื้อ 

อิทธิพลของอนิเมชันญี่ปุ่นยังสะท้อนผ่านการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตามข้อมูลจากองค์การท่องเที่ยวญี่ปุ่นในปี 2561 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 4.6% จากการสำรวจทั้งหมด 140,000 ราย เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศจากอิทธิพลของอนิเมะ/มังงะที่พวกเขาชื่นชอบ 

หากนำสถิติข้างต้นมาคำนวนกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นในปี 2561 จำนวน 31.19 ล้านคน ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยื่อนญี่ปุ่นจากอิทธิพลของการ์ตูนที่พวกเขาหลงรักมีถึง 1.43 ล้านคน 

เมื่ออนิเมะและมังงะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่เติบโตร่วมไปกับผู้อ่าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาพยนตร์อนิเมชันจากญี่ปุ่นจะผลัดเวียนกันขึ้นมาครองแชมป์ทำรายได้ทะลุเป้าเป็นประวัติการณ์กันอย่างต่อเนื่อง เพราะท้ายสุดแล้ว เรื่องราวของพวกเขา (ทั้งในรูปแบบ 2 มิติ หรือพัฒนาขึ้นมาเป็น 3 มิติ) เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของผู้อ่านเสมอและไม่เคยตายไป

อ้างอิง; Box Office, Cartoon Brew, jpninfo, BBC, CB, animenewsnetwork.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;