ไม่พบผลการค้นหา
รูปปั้นของอดีต ปธน.รูสเวลต์ ซึ่งตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกาในนครนิวยอร์กจะถูกรื้อถอนเร็วๆ นี้ โดยนายกเทศมนตรีระบุว่า รูปปั้นดังกล่าวแสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางด้านเชื้อชาติ

นายบิล เดอบลาซิโอ นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกาเตรียมรื้อถอนรูปปั้นอดีตประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ซึ่งตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ โดยให้เหตุผลว่า รูปปั้นดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเหยียดคนผิวดำและคนพื้นเมือง ในฐานะที่เป็นผู้ถูกกดขี่และการแสดงถึงความด้อยค่าทางชื้อชาติ

ทั้งนี้ รูปปั้นอดีต ปธน.รูสเวลล์ หน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา จำลองท่าทางของรูสเวลต์ซึ่งกำลังนั่งบนหลังม้าและมีชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และชนพื้นเมืองอเมริกันยืนขนาบข้าง

ส่วนวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของรูปปั้นดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ปธน.รูสเวลต์ ผู้เป็นทั้งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อุทิศตนให้แก่การทำงานด้านนิเวศวิทยาและยังเป็นผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและยังเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว

แถลงการณ์ของทางพิพิธภัณฑ์ระบุว่า แม้ว่ารูปปั้นจะถูกสร้างขึ้นจากความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์ของครอบครัวรูสเวลต์ แต่ความหมายของรูปปั้นที่สื่อออกมา มีนัยของการกดขี่ทางเชื้อชาติ แสดงออกถึงความไม่เท่าเทียมทางด้านเชื้อชาติระหว่างคนผิวขาว ผิวดำและชนพื้นเมืองอเมริกัน ทางพิพิธภัณฑ์จึงทำเรื่องรื้อถอนอนุสาวรีย์ดังกล่าวก่อนที่จะกลายเป็นประเด็นขึ้นในสังคม

“พวกเราเห็นปรากฎการณ์ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกและที่เกิดขึ้นในประเทศ การเปลี่ยนแปลงความหมายอนุสาวรีย์ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความเจ็บปวดในการเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถึงเวลาที่จะต้องรื้อถอนออกไป” แอลเลน ฟัตเตอร์ ประธานพิพิธภัณฑ์กล่าว

ธีโอดอร์ รูสเวลต์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1901-1909 อดีต ปธน.รูสเวลต์เป็นนักการเมืองจากพรรครีพับลิกัน และเป็นนักอนุรักษ์ที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าและป่าไม้

นโยบายการต่างประเทศที่โดดเด่นของอดีต ปธน.รูสเวลต์ คือ การเจรจาสงบศึกสงครามระหว่างรัสเซียและยุโรป จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ.1906 และยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างคลองปานามา ซึ่งเป็นคลองเดินเรือแห่งแรกที่ขุดด้วยแรงงานมนุษย์

นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ยกเลิกกฎหมายการผูกขาดกิจการอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการแข่งขันทางด้านการค้าที่เป็นธรรม

ที่มา The guardian / CNN / History

ข่าวที่เกี่ยวข้อง