ไม่พบผลการค้นหา
ศาลยืนยันไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ด้านภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ ถามศาลอุทธรณ์ เหตุใดไม่ลงชื่อผู้พิพากษาและเหตุใดมาตรฐานต่างจากแกนนำ กปปส. ขณะที่ทนายใหญ่โพสต์ถอดใจระบบยุติธรรม "ละอายแทน"


ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน 4 ราษฎร

27 ก.พ. 64 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ช่วงสายวันนี้ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว 4 นักกิจกรรม แกนนำราษฎร ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.พ.ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, หมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร รวมทั้งคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในคดี #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ Mob Fest ทั้งสองคดีมีข้อกล่าวหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116

ศาลระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในระหว่างพิจารณามาแล้ว อีกทั้งเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

 นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความกล่าวถึงการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวครั้งล่าสุดนี้ โดยเปรียบเทียบเหตุผลระหว่างคำร้องของจำเลยฝั่งราษฎรกับคำสั่งให้ประกัน กปสส.ที่ศาลเพิ่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ว่า

“ภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ประกันแกนนำ กปปส. จำนวน 8 คน โดยให้เหตุผลว่า – พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว  จำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมาก่อน ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่มาศาลตามกำหนดนัด  - แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทงก็ไม่สูงนัก - จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์

ทางทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก ไปยังศาลอุทธรณ์ ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ขอหยิบยกมาอธิบายเพียงบางส่วนเทียบเคียงในแต่ละประเด็นตามเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัวคดีแกนนำ กปปส. โดยสรุปดังนี้

1.จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 โดยใช้เงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 400,000 บาท เพิ่มสูงขึ้นจากการขอปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งก่อน และมีศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นบุคคลคลที่น่าเชื่อถือ เป็นนายประกันจำเลยทั้งสี่ จึงมีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่หลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น และการปล่อยตัวไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี

2. จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี หรือไม่มาตามกำหนดนัด กล่าวคือ

เมื่อพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกจำเลยมารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกและปฏิบัติตามนัดของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทุกนัด ในวันนัดส่งตัวฟ้องคดี จำเลยก็เดินทางมาศาลตามกำหนดของพนักงานอัยการโจทก์ และประการสำคัญโจทก์ก็ไม่คัดค้านการประกันตัว

สำหรับคดีความผิดลักษณะเดียวกันนี้ พริษฐ์เคยได้รับการประกันตัวในคดีของศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.1012/2563 และ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.63 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ในคดีหมายเลขดำที่ ฝ.500/2563 ของศาลจังหวัดธัญบุรี พริษฐ์ก็ไม่เคยหลบหนีแต่อย่างใด หรือไม่ไปตามนัดแต่อย่างใด

อานนท์ นำภา เคยได้รับการปล่อยประกันตัวในคดีของศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.1437/2563 ,ได้รับการประกันตัวในคดีของศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.971/2563 และศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ก็เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวอานนท์ นำภา ซึ่งอานน์ได้เดินทางไปศาลในทุกคดีตามกำหนดนัดโดยตลอดไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

3. จำเลยทั้งสี่คนเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด ควรจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กล่าวคือ

จำเลยเป็นเป็นเพียงคนที่ถูกฟ้องเท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด ควรจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และสิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรค 2 และในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็อนุญาตให้ประกัน อันถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา จึงขอศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัว เพื่อให้จำเลยได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม

 4. จำเลยทุกคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน กล่าวคือ

4.1) พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างช่วงการเรียนการสอนที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด จึงมีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานต่าง ๆ และเข้าสอบให้ครบตามกำหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ย่อมสามารถติดตามตัวได้โดยง่าย และหากต้องถูกคุมขังไว้ต่อ โดยไม่ได้รับการประกันตัว ก็จะไม่สามารถไปศึกษาต่อตามหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ อาจจะทำให้เรียนไม่จบ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาและอนาคตของเพนกวิน

4.2) อานนท์ นำภา ประกอบวิชาชีพทนายความ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องเดินทางมาศาลเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง มีภาระหน้าที่จะต้องรับผิดชอบว่าความหรือให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในคดีสิทธิมนุษยชนหลายคดี และตลอดทั้งมีนาคม 64 และเดือนอื่น ๆ ก็ต้องทำหน้าที่ทนายความจำเลยที่ศาลอาญาและศาลอื่น ย่อมสามารถติดตามตัวได้โดยง่าย

4.3) หมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม.ประกอบอาชีพเป็นหมอลำ ก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก หรือกำหนดนัด ก็มาตามนัดโดยตลอด

4.4) สมยศ พฤกษาเกษมสุข ประกอบอาชีพรับจ้างอิสระ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก หรือกำหนดนัด ก็มาตามนัดโดยตลอด ย่อมสามารถติดตามตัวได้โดยง่าย

จำเลยทั้งสี่เป็นผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และหลักสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเดือดร้อน ประชาชนได้รับความทุกข์ยากลำบากทางด้านชีวิตความเป็นอยู่และทางด้านเศรษฐกิจ ระบบกฎหมายพังทลายลง ไร้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้ ก็คงมีเพียงอำนาจศาลเท่านั้น ที่จะช่วยถ่วงดุล ตรวจสอบ คานอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมิให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเป็นเสาหลักอันสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ช่วยสร้างหลักประกันสิทธิและฟื้นฟูให้ระบบกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรม กลับคืนสู่ประเทศโดยเร็ว

อาศัยเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยทั้งสี่จึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้นและมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ด้วย เพื่อให้จำเลยทั้งสี่ได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม จำเลยขอให้คำมั่นว่าจำเลย จะไม่หลบหนี และจะปฏิบัติตามนัดของศาลโดยเคร่งครัด หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยทั้งสี่จะต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเท่าใด ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดกำหนดวงเงินหลักประกันตามควรแก่กรณี และจำเลยทั้งสี่ยินดีวางหลักประกันตามวงเงินที่ศาลเรียกต่อไป”

 ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ ถามอธิบดีศาลอุทธรณ์ เหตุใดไม่ลงชื่อผู้พิพากษา-ปฏิบัติต่างจากแกนนำ กปปส.

ด้านภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเปิดเผยในเพจว่า ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีศาลอุทธรณ์ และ ประธานศาลฎีกา เรื่องการลงชื่อผู้พิพากษาในคำสั่งศาลและการใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราว โดยรายละเอียดในหนังสือมีดังนี้

“สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 4 คน ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.287/2564 ของศาลอาญา ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 รายละเอียดปรากฏตามที่ท่านทราบดีอยู่แล้วนั้น

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีหนังสือฉบับนี้มายังท่านเพื่อสอบถามและขอคำชี้แจงใน 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่หนึ่ง ภาคีฯ เห็นว่า การที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ลงชื่อในคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสี่นั้น ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 10 ซึ่งเป็นหลักทั่วไปบัญญัติว่า

“ถ้อยคำสำนวนต้องระบุชื่อศาล สถานที่ และวันเดือนปีที่จด ถ้าศาลจดถ้อยคำสำนวนตามคำสั่งหรือประเด็นของศาลอื่น ให้กล่าวเช่นนั้น และแสดงด้วยว่าได้ทำไปอย่างใด ผู้พิพากษาที่จดถ้อยคำสำนวนต้องลงลายมือชื่อของตนในถ้อยคำสำนวนนั้น”

จึงเรียนมาเพื่อสอบถามท่านว่า ท่านอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด หรือข้อยกเว้นใด้เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ทำคำสั่งไม่ต้องลงชื่อในคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และกรณีดังกล่าวเป็นกรณียกเว้นหรือเป็นกรณีโดยปกติทั่วไปในการทำหน้าที่ของศาลอุทธรณ์ที่จะไม่ลงลายมือชื่อในคำสั่งปล่อยชั่วคราว และข้อยกเว้นหรือแนวปฏิบัติดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่

ทั้งนี้ ภาคีฯ เห็นว่าการลงชื่อผู้พิพากษาในคำสั่งที่ตนเป็นผู้สั่งนั้น เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาอันพึงมีต่อประชาชนเป็นเบื้องต้น อันสืบเนื่องมาจากหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย หากกรณีการไม่ลงชื่อผู้พิพากษาในคำสั่งดังกล่าวข้างต้นมิใช่เรื่องเฉพาะกรณี แต่เป็นแนวปฏิบัติทั่วไปของศาลอุทธรณ์ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในฐานะเป็นองค์กรที่ทำงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เสนอให้ท่านทบทวนการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำสำนวน โดยเฉพาะคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวที่จะมีขึ้นในอนาคต จะเป็นไปตามมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

กรณีที่สอง ระยะเวลาในการพิจารณาสั่งคดีดำหมายเลข อ.287/2564 ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวไปยังศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ใช้ระยะเวลาในการทำคำสั่งรวม 3 วันเศษ ส่วนคดีหมายเลขดำที่ อ.247/2561 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 39 คน ถูกศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวไปยังศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ใช้ระยะเวลาในการทำคำสั่งไม่ถึง 1 วัน จึงขอสอบถามมายังท่านว่า เหตุใดคดีทั้งสองจึงใช้ระยะเวลาพิจารณาแตกต่างกัน และนอกจากประเด็นเรื่องระยะเวลาในการพิจารณาทำคำสั่งแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวที่แตกต่างกันอีกด้วย ทั้งที่คดีหมายเลขดำที่ อ.284/2564 และคดีหมายเลขดำที่ อ.247/2561 ต่างก็เป็นคดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งควรได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวเช่นเดียวกันตามหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับแตกต่างกันโดยชิ้นเชิง และไม่อาจเข้าใจได้ภายใต้หลักการแห่งกฎหมาย กรณีดังกล่าว ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองตามมาตรา 27 และมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ภาคีฯ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และในฐานะประชาชนพลเมืองที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หลักกฎหมาย และหลักนิติธรรม จึงขอท่านได้โปรดชี้แจงเหตุผลและข้อกฎหมายดังที่ได้สอบถามข้างต้น เพื่อที่ภาคีฯ รวมทั้งประชาชนในสังคมประชาธิปไตยจะสามารถเข้าใจเหตุผล การใช้ และการตีความกฎหมายของศาลอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้มากขึ้น”

ทนายใหญ่ถอดใจระบบยุติธรรม

ทนายราษฎร

ด้านกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของ 4 ราษฎร โพสต์ลงเฟซบุ๊กระบุว่า

“27 ก.พ. 64 อานนท์ เพนกวิน สมยศ แบงค์

ความจริงวันจันทร์ผมต้องเข้าไปพบพวกคุณเพื่อแจ้งให้พวกคุณรู้ว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวพวกคุณในระหว่างการพิจารณาคดีอีกครั้งแล้ว ด้วยเหตุผลเดิมๆ

บังเอิญผมเข้าไปพบพวกคุณไม่ได้เพราะว่าติดภารกิจบางอย่าง ซึ่งความจริงภารกิจนั้นมันก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไร เหตุผลลึกๆ ก็คือผมละอายใจแทนผู้มีอำนาจในเรื่องนี้จริงๆ จนพูดไม่ออก เลยฝากให้น้องทนายมาแจ้งให้คุณทราบแทน

คิดว่าวันสองวันนี้ก่อนขึ้นศาลผมจะเข้าไปเยี่ยมพวกคุณที่เรือนจำ

คิดถึงและเป็นกำลังใจให้เสมอ

พี่ด่าง

ป.ล. ได้โปรดอย่าถามว่าทำไมศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวพวกคุณไปต่อสู้คดี มันไม่ยุติธรรมเลย ซึ่งมันเป็นคำถามที่พี่น้องเพื่อนฝูงของคุณถามผมทุกๆ ครั้ง

ก็อย่างที่ผมเคยบอกแล้วว่า ความยุติธรรมกับกฎหมายนั้นมันเป็นคนละเรื่องกัน ใครก็ตามที่สักแต่อ้างว่าใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวเพื่อแสวงหาความยุติธรรมนั้น ถ้าไม่โง่ก็ชั่วช้า เพราะกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้นในการแสวงหาความยุติธรรม

ถ้าใครทำสิ่งที่ไม่ยุติธรรมโดยอ้างว่าเป็นไปตามกฎหมาย (โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม) เขาผู้นั้นทำชั่วอย่างร้ายแรง

ในฐานะทนายความของคุณ ผมคงทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ ในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพระหว่างการพิจารณาคดีของคุณนั้น พวกคุณและพี่น้องของพวกคุณคงต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ความยุติธรรมและสิทธิของคุณคืนมาเอง คุณต้องเลือกวิถีทางของพวกคุณเอง ไม่ต้องบอกผม เพราะว่าความยุติธรรมไม่เคยได้มาจากการร้องขอ”