ไม่พบผลการค้นหา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดแผนรองรับการเปิดเมือง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แนะปรับเวลาเข้างาน สังคายนาระบบขนส่งสาธารณะ

นายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอแนวทางการแก้ปัญหาการเดินทางใรเมืองกรุง เพื่อรองรับการคลายมาตรการควบคุมปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า วันนี้นำของบริจาคไปมอบให้ครอบครัวเด็กพิการซ้ำซ้อนแถวกรุงเทพกรีฑา ขากลับแวะไปนั่งคุยกับพนักงาน ขสมก.ที่ท่ารถเมล์สาย 93 ตรงหมู่บ้านนักกีฬา สาย 93 วิ่งจากหมู่บ้านนักกีฬาไปสี่พระยา คุยกับพนักงาน ทุกคนกังวลกับโควิด ปัญหาหลักๆที่เจอคือ

  • กระเป๋ารถต้องทอนตังค์ สัมผัสเงิน
  • อุปกรณ์เช่น Face Shield ถุงมือ ใส่ทำงานไม่ค่อยสะดวก
  • การเว้นที่นั่งและเว้นที่ยืน ทำให้รถรับผู้โดยสารได้น้อยลง
  • เฉพาะช่วงเช้าและเย็น ผู้โดยสารเยอะต้องรอรถหลายคัน บางครั้งห้ามไม่ให้ผู้โดยสารขึ้นไม่ได้ ขณะที่ช่วงกลางวันแทบไม่มีคน

การจะเปิดเมืองและสร้างเศรษฐกิจของความไว้ใจ (Trust Economy) ได้ เรื่องระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นตัวเชื่อมระว่างจุดที่ปลอดภัยสองจุดคือบ้านกับที่ทำงาน บ้านและที่ทำงานเราบริหารจัดการความปลอดภัยเองได้ แต่ระบบขนส่งสาธารณะเป็นสิ่งที่ภาครัฐเป็นผู้จัดการ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงเพราะแออัดมากในบางช่วงเวลา จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้โดยปลอดภัย ผมคิดว่าแนวทางที่น่าจะทำได้ในช่วงที่เรายังไม่มีวัคซีนหรือยังต้องระวังการระบาดโควิดในช่วง 2-3 เดือนนี้คือ

9 โมเดล

  • เหลื่อมเวลาทำงาน ทำอย่างจริงจัง เพราะจะเห็นว่าระบบขนส่งสาธารณะ (รวมถึงลิฟต์ที่ขนคนในอาคารสำนักงาน) จะแน่นเป็นเวลาในช่วงที่เริ่มงานและเลิกงานพร้อมๆกัน อาจจะเปลี่ยนเวลาเริ่มงานเป็น 5.00 น. - 6.00 น. ไปจนถึง 12.00 น. และเลิกงาน ไล่ตั้งแต่ 13-00 น.- 14.00 น. ไปจน 21.00 น. กระจายเวลาทำงานให้กว้างขึ้น ทำให้ความหนาแน่นในการเดินทางลดลง ปัญหาที่สำคัญของการเหลื่อมเวลาการทำงานคือการรับส่งลูกที่โรงเรียน ถ้ายังเข้าตามเวลาเดิม ก็จะมีปัญหากับการเหลื่อมเวลาทำงาน ดังนั้นเด็กเล็กที่พ่อแม่ยังต้องไปส่ง อาจต้องอนุโลมให้หยุดเรียนหรือมาเรียนสาย กลับก่อน หรือจัดรถโรงเรียนให้
  • ปรับเวลาการให้บริการรถสาธารณะให้สอดคล้องกับการเหลื่อมเวลาทำงาน เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ เที่ยวแรกให้บริการเร็วขึ้นเป็น 4:00 น.
  • สนับสนุนการทำงานจากบ้าน Work From Home อย่างจริงจัง ให้มีแรงจูงใจด้านภาษี สำหรับบริษัทที่มีการลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการทำงานจากบ้าน
  • ให้บริการรถเมล์ฟรีแก่ผู้โดยสารทุกคน สำหรับรถร่วม ให้รัฐจ้างวิ่งรถ และเพิ่มรถเมล์อีกสองพันคัน โดยอาจจ้างรถทัวร์และคนขับที่ไม่มีงานเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาขับเป็นรถสาธารณะ รวมให้มีรถเมล์วิ่งให้บริการอย่างน้อย 5,000 คันต่อวัน จำกัดจำนวนคนที่ขึ้นรถ ระยะห่าง (คิดไวๆ ค่าจ้างคันละ 6,000 บาท ค่าใช้วันละ 30 ล้านบาท จันทร์-ศุกร์ เดือนละ 800 ล้านบาท) นอกจากนั้นเนื่องจากขึ้นฟรี ไม่ต้องมีกระเป๋า ลดความเสี่ยงการสัมผัสเงินสามารถปรับสายรถเมล์ไม่ให้ไม่ซ้ำซ้อนและใช้ต่อรถให้สะดวกขึ้น
  • ทำที่จอดรถชานเมืองโดยใช้สถานที่ราชการหรือเอกชนที่ให้ความร่วมมือ เพื่อทำที่จอดรถ และใช้รถเมล์หรือรถไฟฟ้าเดินทางเข้าสู่กรุงเทพชั้นใน
  • ทำ Bus Lane ในถนนหลักบางเส้น เพื่อให้รถเมล์ รถสาธารณะหรือรถบัส สามารถวิ่งได้สะดวกในทุกเส้นทาง รถยนต์ส่วนตัวต้องเสียสละเพราะใช้พื้นที่มากกว่ารถสาธารณะ เพื่อให้รถสาธารณะวิ่งได้สะดวกกว่า
  • ส่งเสริมการเดิน (เมืองเดินได้) และ การใช้จักรยานในที่ที่เหมาะสม
  • สนับสนุนให้บริษัทและโรงเรียนจัดรถรับส่ง เพื่อให้ลดปริมาณรถส่วนตัวและลดความหนาแน่นของรถสาธารณะ
  • รัฐสนับสนุนมาตรการลดหย่อนทางภาษีให้แก่บริษัทที่ร่วมกับมาตรการต่างๆนี้

"เป็นแนวคิดเบื้องต้นสำหรับการปรับระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการเปิดเมือง อาจจะทำได้หรือไม่ได้ ดีหรือไม่ดี เราต้องมาช่วยคิดกันต่อในรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้เพื่อสร้าง Trust Economy ในอนาคตก่อนที่จะเปิดเมืองแล้ว" ชัชชาติ ระบุ