ไม่พบผลการค้นหา
กรมการค้าภายในออกประกาศอนุญาตให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับใช้ในทางการแพทย์ หรือ surgical mask ผลิต-จำหน่ายถึงผู้ซื้อโดยตรง หลังสถานการณ์ปริมาณหน้ากากฯ คลี่คลาย ย้ำห้ามขายเกินชิ้นละ 2.50 บาท ส่งออกต้องขออนุญาต หากไวรัสระบาดอีกรอบพร้อมฟื้นมาตรการจำกัดซื้อ-ขาย

วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์เรื่องหน้ากากอนามัยในปัจจุบันคลี่คลายจากช่วงก่อนหน้าแล้ว คณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือ รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ คกก.เฉพาะกิจฯ จึงได้เปิดให้ซื้อขายหน้ากากอนามัยเสรีตามกลไกปกติมากขึ้น 

จากเดิมที่มีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 4 ก.พ. 2563 ให้หน้ากากอนามัยที่ใช้ในทางการแพทย์ที่ผลิตภายในประเทศเป็นสินค้าควบคุมและผู้ผลิตต้องจัดส่งและจำหน่ายหน้ากากอนามัยตามปริมาณและสถานที่ปลายทางตามที่ประธานอนุกรรมการบริหารศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัย กรมการค้าภายในกำหนด

"จากเดิมรัฐบาลซื้อจากผู้ผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับใช้ในทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศทั้งหมด แต่นับตั้งแต่วันนี้ (11 ส.ค. 2563) เป็นต้นไป ให้โรงงานผลิตขายให้ผู้ซื้อโดยตรง" วิชัย กล่าว

วิชัย โภชนกิจ
  • วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน

อย่างไรก็ตาม ตามประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 

1.ราคาขายปลีก ยังคงต้องไม่เกินที่ชิ้นละ 2.50 บาท ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และหากผู้บริโภคพบขายเกินราคาสามารถร้องเรียนผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

2.การส่งออก ยังส่งออกได้ตามข้อจำกัดที่กำหนดตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบูรณาการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยฯ 

3.หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาอีก รัฐบาลขอสงวนสิทธิให้จำหน่ายหน้ากากอนามัยสำหรับใช้ในทางการแพทย์แก่ผู้มีความเสี่ยง บุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วย เป็นอันดับแรก

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวด้วยว่าการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับใช้ในทางการแพทย์ในประเทศไทยปัจจุบัน มีกำลังการผลิตจาก 9 โรงงานที่ได้รับมาตรฐาน รวมกับ 10 โรงงานได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ จำนวนวันละ 4.5 ล้านชิ้น จากช่วงต้นปีมีกำลังการผลิตเพียงวันละ 1.2 ล้านชิ้น ขณะที่ หน้ากากอนามัยนำเข้ามีจำนวนเดือนละ 20 ล้านชิ้น (ประมาณวันละ 6.6 แสนชิ้น) โดยพบว่า การผลิตหน้ากากอนามัยที่ใช้ในทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศมีต้นทุนประมาณชิ้นละ 2 บาท

อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ประชาชนใช้หน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรคมากขึ้น ประกอบกับได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามีหน้ากากอนามัยสำหรับใช้ในทางการแพทย์สำหรับบุคลากรการแพทย์เพียงพอ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีสต็อกหน้ากากฯ สำหรับ 2 เดือน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็ยืนยันว่า มีเพียงพอสำหรับบุคลากรที่ดูแลป้องกันการระบาดโควิด-19 จึงเป็นที่มาให้ออกประกาศให้ซื้อขายเสรีได้

ชินวัฒน์ มธุรพร รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้ามีสถานการณ์โควิด-19 บริษัทผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อการส่งออก 90% กระทั้งมีโควิด-19 ต้องปรับการผลิตและขายในประเทศ 90% แทน และวันนี้ เมื่อกรมการค้าภายในประกาศเปิดเสรี ปลดล็อกประกาศการจำกัดปริมาณและการจำหน่ายแก่รัฐ ซึ่งออกมาเมื่อต้นปี 2563 บริษัทก็ต้องกลับไปคิดวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น เพราะตลาดหลักของบริษัทคือตลาดต่างประเทศ โดยมีลูกค้าอยู่ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น

หน้ากากอนามัย ผู้ผลิต โรงงานผลิต กรมการค้าภายใน
  • ชินวัฒน์ มธุรพร (คนซ้าย) รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด
หน้ากากอนามัย ผู้ผลิต โรงงานผลิต กรมการค้าภายใน
  • อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ ในวันนี้ (11 ส.ค. 2563) กรมการค้าภายในได้เชิญผู้ผลิตหน้ากากอนามัย จำนวน 30 แห่งเข้าประชุมรับทราบประกาศชุดใหม่และชี้แจงแนวปฏิบัติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: