ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยดินถล่ม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะออกกฎหมายควบคุมพื้นที่จุดใดให้อาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย หรือพื้นที่ใดไม่ควรอยู่อาศัย เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อดินถล่ม

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หน่วยวิจัยดินถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา "ดินถล่มและระบบเตือนภัยในประเทศไทย" เพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดินถล่ม และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาทั้งการเฝ้าระวัง เตือนภัย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ว่า ประเทศไทยจะเกิดดินถล่มตามธรรมชาติช่วง 5 - 6 ปีต่อครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดในภาคเหนือและภาคใต้ เพราะภูมิประเทศและธรณีวิทยาเอื้อต่อการถล่มมากกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ เหตุดินถล่มยังเกิดจากการกระจายตัวของหินที่เป็นแกรนิต การเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่มีความชันสูง ดินสลายตัวเร็วกว่าตำแหน่งอื่นๆ ส่วนการตัดต้นไม้เป็นสาเหตุให้เมื่อฝนตกในปริมาณไม่มากก็เกิดดินถล่มได้ และจุดที่เป็นรอยต่อระหว่างที่อยู่อาศัยกับที่ลาดเชิงเขา โดยเฉพาะใกล้กับแนวป่าอนุรักษ์ มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากดินถล่มสูง หากยังตัดหน้าเขาเป็นพื้นที่อาศัยหรือสร้างถนนอยู่

นายสุทธิศักดิ์ยังระบุว่า ในระยะยาว ควรมีการกำหนดกฎหมายควบคุมพื้นที่ว่า จุดใดสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย หรือพื้นที่ใดไม่ควรอาศัยเลย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากดินถล่ม และที่สำคัญ ต้องมีระยะเว้นจากตีนเขาห่างออกไปอย่างเหมาะสมด้วย ซึ่งเขามองว่า ขณะนี้ข้อมูลมีมากพอจะกำหนดพื้นที่ได้แล้ว

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ที่ประสบภัยดินถล่มล่าสุด พบว่า ลักษณะที่เกิดเหตุไม่ควรสร้างเป็นที่อยู่อาศัย หรือปลูกสิ่งก่อสร้างใดๆ อีก เพราะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต

เบื้องต้น นักวิจัยจัดทำระบบเตือนภัยแบบ Multi-way warning ล่วงหน้า 2 - 3 วัน เพื่อให้แจ้งเตือนคนในชุมชน แต่โมเดลนี้เตือนเฉพาะจุดไม่ได้ จึงทำโมเดลที่ 2 เพื่อเตือนได้เฉพาะจุด ถือเป็นโมเดลแรกในอาเซียนที่ใช้ทำงานวิชาชีพจริง และแอปพลิเคชัน LandslideWarning.Thai ช่วยให้รับข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนได้รวดเร็วและเตรียมเคลื่อนย้ายอพยพได้ทันก่อนเกิดเหตุดินถล่ม