ไม่พบผลการค้นหา
อย. แนะนมแม่ควรรับและบริจาคผ่านธนาคารที่ได้มาตรฐานเท่านั้น และอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเพิ่มน้ำนมได้

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวดารานักแสดงได้ประกาศบริจาคนมแม่ของตนเองและมีการถกเถียงเกี่ยวกับการบริจาคน้ำนมและความปลอดภัยนั้น อย. ขอชี้แจงว่า การบริจาคนมแม่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดื่มนมแม่ในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวน้อย และทารกที่มีปัญหาการเจ็บป่วยซึ่งแม่มีปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอ โดยมีการบริหารจัดการในลักษณะของธนาคารนมแม่ 

ปัจจุบันมีธนาคารนมแม่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารนมแม่ศิริราช และธนาคารนมแม่รามาธิบดี ดำเนินการภายใต้ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งได้นำมาตรฐานของคลินิกนมแม่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย มาจัดทำหลักเกณฑ์และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย

สำหรับคุณแม่ที่จะบริจาคน้ำนมจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติ และการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่า ไม่เจ็บป่วยหรือติดเชื้อ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพน้ำนมที่บริจาค เมื่อพบว่าผลการตรวจวิเคราะห์ผ่านมาตรฐานแล้วจึงจะจ่ายให้เด็กทารกในโรงพยาบาลต่อไป

การบริจาคน้ำนมแม่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายจึงไม่ต้องขออนุญาตกับ อย. แต่อย่างไรก็ตาม อย. มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย หากพบมีเด็กได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการดื่มนมแม่ที่บริจาคจะถือว่าผู้บริจาคมีความผิดทางกฎหมาย กรณีผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า การส่งเสริมการดื่มนมแม่นั้นเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์สูง สำหรับเด็กปกติสนับสนุนให้เด็กกินนมแม่ตนเอง หากจำเป็นต้องได้รับการบริจาคนมแม่จะต้องได้รับผ่านธนาคารนมแม่ที่มีกระบวนการคัดกรองโรคและฆ่าเชื้อนมที่มีมาตรฐาน เนื่องจากเด็กอาจมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้

ส่วนคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำนมน้อยหรือมีปัญหาเรื่องการให้นมแม่ สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ คลินิกนมแม่ ที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเพิ่มน้ำนมมารับประทานเอง เนื่องจากสตรีมีครรภ์และแม่ที่อยู่ในช่วงการให้นมลูกถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องมีความตระหนักและระมัดระวังในการเลือกบริโภคอาหาร เนื่องจากอาหารทุกชนิดที่แม่รับประทานจะมีผลโดยตรงต่อทารกด้วย หากมีความประสงค์จะบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการบริโภค

ทั้งนี้ ขอย้ำว่า อย. ไม่เคยอนุญาตการกล่าวอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวว่า สามารถช่วยเพิ่มน้ำนมได้ หากผู้บริโภคพบเห็นอาหารที่ไม่ปลอดภัย หรือสงสัยในเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน หรือความปลอดภัยของอาหาร ขอให้ร้องเรียนมาได้เพื่อ อย. จะเข้าตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง