ไม่พบผลการค้นหา
ถึงวันนี้ คลิปลับบันทึกเสียงปริศนา ที่เชื่อกันว่าเป็นเสียงของ สนช.สายทหารคนหนึ่ง อ้างชื่อนายกรัฐมนตรีว่า “ไม่แฮปปี้” กับรายชื่อผู้สมัครเป็น กสทช.ทั้ง 14 คน และต้องการล้างไพ่ ล้มการสรรหาทั้งหมด อยู่ระหว่างการตรวจสอบภายในโดย สนช. ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

แม้แทบจะเขียนบทสรุปรอไว้ได้เลยว่า งานนี้คงจะเอาผิดใครไม่ได้ เพราะคลิปเสียงนั้นเป็นคลิปตัดต่อ? ไม่รู้ใครเป็นพูด? และไม่รู้พูดในโอกาสไหน?

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งผ่านมติที่ประชุม สนช.เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่คว่ำรายชื่อผู้สมัครเป็น กสทช.ทั้งหมด ไม่ยอมเลือกให้เหลือ 7 คนตามกฎหมาย และต่อมาหัวหน้า คสช. (ซึ่งเป็นคนเดียวกับนายกฯ ตามที่อ้างถึงในคลิป) ก็ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2561 สั่งชะลอการสรรหา กสทช.ออกไปไม่มีกำหนด ด้วยข้ออ้างที่ว่า การสรรหาที่ผ่านมามีปัญหา และมีข้อร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติเข้ามาเป็นจำนวนมาก

พฤติกรรมทั้งหมด กลับสอดคล้องกับเนื้อหาในคลิปเสียงอย่างประหลาด

เพราะแสดงให้เห็นถึงความ “ไม่แฮปปี้” ของ สนช. และนายกฯ ต่อรายชื่อแคนดิเดต กสทช. ดังกล่าว

ถามว่า องค์กรที่ชื่อ กสทช.มีความสำคัญอย่างไร ทำไมการสรรหาคนมาเป็นกรรมการ ถึงต้องรอให้ผู้มีอำนาจ “แฮปปี้” ด้วย?

ทั้งที่ ความจริงหน้าที่หลักของ กสทช. มีเพียงเรื่องเดียว คือบริหารจัดการ “คลื่นความถี่” ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เพียงแต่ในยุคปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่าคลื่นความถี่นี้มีมูลค่ามากมายมหาศาล จนใครได้ครอบครอง แทบไม่ต่างกับมีความสามารถในการ “เสกเงินจากอากาศ” เพราะคลื่นความถี่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มหาศาล ทั้งให้บริการโทรทัศน์ วิทยุ ดาวเทียม ไปจนถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่

หากย้อนไปดูผลงานของ กสทช.ชุดแรก ระหว่างปี 2553-ปัจจุบัน จะพบว่า เปิดประมูลคลื่นมือถือ 3G 4G ไปจนถึงทีวีดิจิทัล และนำรายได้เข้าคลังมากกว่า 300,000 ล้านบาทแล้ว (ขณะที่บริษัทซึ่งได้คลื่นเหล่านั้นไป ก็นำไปทำธุรกิจจนมีผลประกอบการรวมกันนับล้านล้านบาท)

 ขณะที่ภารกิจซึ่งรออยู่เบื้องหน้า ให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาสานต่อ ก็ทั้งการประมูลคลื่นมือถือ ความถี่ 900 MHz กับ 1800 MHz การจัดการปัญหาทีวีดิจิทัล การจัดการปัญหาวิทยุชุมชน และการเรียกคืนคลื่นวิทยุจากหน่วยงานราชการ เพื่อมาจัดสรรใหม่เป็นวิทยุดิจิทัล ก็เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท

พูดง่ายๆ คลื่นความถี่ คือ “ขุมทรัพย์” ก้อนมหึมา ซึ่งภาคประชาชนต้องใช้เวลาต่อสู้เรียกร้องอยู่หลายปี ถึงมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่า คลื่นความถี่ถือเป็น “สมบัติของชาติ” เพื่อดึงให้หน่วยงานราชการต่างๆ คายคลื่นความถี่เหล่านั้น ให้นำกลับมาจัดสรรใหม่เพื่อประโยชน์สาธารณะ (โดยเปลี่ยนวิธีการจัดสรร จาก “ระบบสัมปทาน” เป็น “ระบบใบอนุญาต”)

และไม่ใช่แค่หน้าที่ในการเฝ้าขุมทรัพย์เท่านั้น กสทช.ยังเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการควบคุมการทำงานของสื่อได้ เหมือนอย่ากรณีที่มีทีวีดิจิทัลบางช่องถูกพักใบอนุญาตนับสิบครั้ง เพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบัน

ด้วย 2 เหตุผลนี้ ไม่แปลกที่ผู้มีอำนาจ อยากจะได้คนที่ส่วนตัวรู้สึกแฮปปี้มาทำงานใน กสทช.

ในทางกลับกัน “เก้าอี้กรรมการ” ของ กสทช.โดยตัวมันเองก็ยังหอมหวนด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว

เชื่อหรือไม่ว่า กว่าจะเหลือผ่านเข้ารอบสุดท้าย 14 คน (เพื่อคัดให้เหลือเพียง 7 คน) ก่อนจะถูกที่ประชุม สนช.คว่ำไป มีผู้มายื่นใบสมัครเสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งถึง 86 คน หรืออัตราส่วนการแย่งชิงคือ 1:12

เพราะอย่างที่รู้กันคือ “เงินเดือน” ของ กสทช. มากกว่านายกฯ ประธานศาลฎีกา หรือประธานรัฐสภาเสียอีก โดยกรรมการจะได้อยู่ที่ 269,000 บาท ส่วนประธานกรรมการได้ที่ 335,520 บาท (ส่วน 3 ผู้อำนาจอธิปไตยไทยมีเงินเดือนแค่ 125,590 บาท)

นอกจากนี้ แต่ละคนยังจะมี “งบรับรอง” คนละ 200,000 บาท/เดือน โดยสำนักงานจะทำบัตรเงินสดให้ และ “งบดูงานต่างประเทศ” อีกปีละนับสิบล้านบาท

ไม่รวมถึงการสามารถตั้งคนใกล้ชิดมากินตำแหน่งต่างๆ ใน กสทช. ทั้งที่ปรึกษา (เงินเดือน 120,000 บาท) หรือให้เป็นอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ที่จะได้เบี้ยประชุมลดหลั่นกันไปตามแต่ละคณะ สูงสุด 10,000 บาทต่อการประชุม 1 ครั้ง

ทั้ง “ขุมทรัพย์ในความรับผิดชอบ” ตามอำนาจหน้าที่ กับ “สิทธิประโยชน์โดยตำแหน่ง” ทำให้การสรรหา กสทช.เป็นที่จับตามาโดยตลอด มีการแย่งชิงอย่างเข้มข้นไม่ต่างจากเก้าอี้ดนตรี เพราะหากได้คนที่ถูกตาต้องใจ ไม่เพียงผู้มีอำนาจจะ “แฮปปี้” ตัวผู้ที่ถูกเลือกเองก็ “แฮปปี้” ด้วย

ส่วนจะเกิดผลดีต่อส่วนรวมและประเทศชาติไหม เรื่องนี้ค่อยไปว่ากันในอนาคต มีเวลาให้พิสูจน์ตัวเองถึง 6 ปีเต็มๆ

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog