ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันที่ 18 กันยายน ประธานาธิบดี มุนแจอิน แห่งเกาหลีใต้ กับ คิมจองซุก ผู้เป็นภริยา พร้อมด้วยคณะข้าราชการระดับสูงและนักธุรกิจ รวม 150 ราย เดินทางไปเยือนกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ โดยมีคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือและภริยาให้การต้อนรับ

เป้าหมายของการเยือนครั้งนี้คือเพื่อขยายขอบเขตและหารือต่อเนื่องจากปฏิญญาปันมุนจอม ที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา

การพบปะกันอย่างเป็นทางการของผู้นำเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ก่อให้เกิดบรรยากาศชื่นมื่นในความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีทั้งสองประเทศ และทำให้ทั่วโลกจับสถานการณ์อย่างมีความหวัง สื่อบางสำนักคาดหวังว่าจะเกิดการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างง่ายดายโดยหวังว่าเกาหลีใต้จะใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการลงทุนเป็นเงื่อนไขจูงใจให้เกาหลีเหนือทำตามโดยง่าย ในขณะที่สื่อบางสำนักคาดหวังว่าจะเกิดการรวมชาติเกาหลีในเร็ววัน

อันที่จริง ความคิดเรื่องสร้างความสมานฉันท์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เคยเกิดมาตั้งแต่หลังการยุติของสงครามเย็นระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายโลกคอมมิวนิสต์ไม่กี่ปี คือเกิดในปี ค.ศ. 1998 ในนามนโยบาย “แสงตะวันฉาย” (The Sunshine Policy) ซึ่งเป็นความคิดที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีคิมแดจุงแห่งเกาหลีใต้ นำไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำของสองเกาหลี 2 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ครั้งจัดขึ้นที่กรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือ

คิมจองอึน มุนแจอิน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ประชุมสุดยอดผู้นำ พันมุนจอม

ครั้งแรก เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน ค.ศ.2000 มีการลงนามในปฏิญญาร่วมเหนือ-ใต้ (North-South Joint Declaration) มีเนื้อหาที่สำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ตกลงกันว่าจะแก้ปัญหาระหว่างกันโดยสันติ สองตกลงกันว่าจะส่งเสริมการรวมประเทศโดยสันติ สามตกลงกันว่าจะแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรม เช่น การอนุญาตให้ครอบครัวที่พลัดพรากกันหลังการแบ่งแยกประเทศได้มีโอกาสกลับมาพบกัน สี่ตกลงกันว่าจะขยายและส่งเสริมความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ และห้าตกลงกันว่าจะจัดการประชุมพบปะระหว่างผู้นำอย่างต่อเนื่อง

บรรยากาศของความสัมพันธ์ที่ดูดีดูหวานหอมเช่นนั้น ทำให้ชาวโลกเชื่อว่าสันติภาพระหว่างสองเกาหลีได้เกิดขึ้นแล้วและจะอยู่อย่างถาวร ทำให้ประธานาธิบดีคิมแดจุงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในเดือนตุลาคม ค.ศ.2000

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ถล่มอาคารเวิร์ลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ ประกาศเป็นศัตรูกับขบวนการก่อการร้ายทั่วโลก และประกาศเป็นศัตรูกับประเทศที่มีส่วนช่วยเหลือขบวนการก่อการร้ายและสะสมอาวุธทำลายล้างสูง เรียกประเทศเหล่านั้นว่าเป็น “แกนแห่งความชั่วร้าย” (Axis of Evil) โดยมีเกาหลีเหนือรวมอยู่ด้วย ในขณะที่เกาหลีเหนือก็ปฏิเสธสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty หรือ NPT) ภายใต้สหประชาชาติอย่างก้าวร้าว และมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ส่งผลให้เกาหลีใต้รักษาระยะห่างกับเกาหลีเหนือ และปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมา เมื่อถึงยุครัฐบาลของประธานาธิบดีโรห์มูฮยอน เกาหลีใต้ได้ตัดสินใจว่าจะพยายามทำให้เกาหลีเหนือลดความแข็งกร้าวลงด้วยการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ใน ค.ศ.2005 และเริ่มโครงการเขตอุตสาหกรรมแคซอง เพื่อให้เอกชนเกาหลีใต้เข้าไปลงทุนในเกาหลีเหนือซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกาหลีเหนือในอีกทางหนึ่ง ต่อมาประธานาธิบดีโรห์มูฮยอนได้เดินทางไปประชุมสุดยอดที่กรุงเปียงยางระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม ค.ศ.2007 ด้วยวิธีการเดินทางที่ลือลั่นไปทั้งโลก คือ เดินทางโดยรถยนต์ออกจากกรุงโซลไปยังปันมุนจอมที่ชายแดน แล้วเดินเท้าข้ามเส้นแบ่งเขตแดน แล้วจึงนั่งรถยนต์ต่อไปถึงกรุงเปียงยาง ทั้งนี้เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเขามีเจตนาสันติและมุ่งมั่นจริงใจที่จะให้เกิดการรวมชาติ

ความพยายามของเกาหลีใต้พังทลายลง เมื่อเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ใน ค.ศ.2009 มีการซ้อมยิงทั้งปืนใหญ่และจรวดขนาดเล็กเข้าไปในเกาหลีใต้อีกหลายครั้ง แม้หลังจากเปลี่ยนผู้นำใหม่ในปลายปี ค.ศ.2011 เป็นประธานาธิบดีคิมจองอิล ก็มิได้แข็งกร้าวน้อยลง จนก่อให้เกิดการปะทะกับเกาหลีใต้หลายครั้ง โดยครั้งใหญ่ๆ ได้แก่ ตุลาคม ค.ศ.2014 และสิงหาคม ค.ศ.2015 ทั้งนี้ ล่าสุดในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2017 เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธไปตกในทะเลใกล้เกาะฮ็อกไกโด ของญี่ปุ่น

ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไปยาวๆ ไม่ควรด่วนปลงใจเชื่อมั่นว่าจะเกิดสันติภาพอย่างถาวร