ไม่พบผลการค้นหา
เวทีสัมมนาครบรอบ 17 ปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยประธาน กสม. ชี้ รธน.ปี60 ให้มี ส.ว.แต่งตั้ง - ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาจขัดหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ขณะที่นักวิชาการนิติศาสตร์ ยกต่างชาติมอง คสช.นิรโทษกรรมตัวเอง - ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ด้านแกนนำพรรคเพื่อไทยหวั่นองค์กรอิสระ - ศาล รธน. เอื้อ คสช.

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดเสวนา “โรดแมป : สิทธิมนุษยชนบนเส้นทางประชาธิปไตย” ในวาระครบรอบ 17 ปี กสม. วันนี้ (13 ก.ค.) โดยนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่ผู้มีอำนาจจะเซ็ตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบัน โดยอ้างการถูกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติลดสถานะ จาก 'เอ' เป็น 'บี' นั้นไม่ชอบธรรม เพราะนับแต่เข้าทำหน้าที่ปี 2558 ไม่พบการละเมิดสิทธิร้ายแรง จึงไม่ได้เสนอรายงาน ต่างจากปี 2553 ของ กสม.ชุดก่อนหน้า ที่เสนอรายงานต่อข้าหลวงใหญ่ใน 3 ปีถัดมา ซึ่งถือว่าทำงานล่าช้าอีกด้วย

ประธาน กสม. ยังแสดงความกังวลต่อบทเฉพาะกาล กับบททั่วไปของ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ขัดแย้งกันและไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะจำนวน ส.ว.แต่งตั้ง รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่อาจขัดกับหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วย

นักวิชาการเผยสายตาต่างชาติมองไทยปิดกั้นเสรีภาพประชาชน

ด้าน ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงด้านบวกของรัฐบาล คสช. คือ การจัดการปัญหาค้ามนุษย์ การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เปิดพื้นที่ให้ศาลยุติธรรมมามีบทบาท ส่วนด้านลบ โดยเฉพาะในสายตาต่างชาติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทย คือ การนิรโทษกรรมตัวเองของ คสช. การเลื่อนการเลือกตั้ง การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 116 กับผู้เเสดงออกทางการเมือง พร้อมเสนอให้ผู้มีอำนาจเปิดพื้นที่ทางการเมือง อาจใช้กฎหมายปกติดูแลการชุมนุม ยกเลิกหรือบรรเทาการดำเนินคดีประชาชนและทนายความ วางแนวทางสู่อนาคต โดยเร่งกระบวนการสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว 

ขณะที่ ด้าน ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ จากคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า แม้ในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้งจะไม่มีปัญหาเรื่องการแสดงออกของประชาชน แต่มีปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทั่งมีการปราบปรามผู้ชุมนุมขั้นรุนแรงจนสูญเสียชีวิต ส่วนในรัฐบาลทหาร แม้ประชาชนจะไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแต่ได้รับความคุ้มครองในชีวิตไม่มีการปราบปรามประชาชน 

"รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และผู้มีอำนาจยังมีปัญหา เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่าใช้มาตรฐานอะไรในการเซ็ตซีโร่บางองค์กร ซึ่งจะเป็นปัญหาทางการเมืองในอนาคต เนื่องจากจะถูกตั้งแง่และขยายผลว่าเป็นเลือกปฏิบัติและเอื้อประโยชน์พวกพ้อง เรียกว่า รอยด่าง หรือหลายคนเรียก ตราบาป ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน

เพื่อไทย หวั่นองค์กรอิสระ - ศาล รธน.เอื้อประโยชน์ คสช.

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า หากประเทศตกอยู่ในยุคที่ไม่มีประชาธิปไตย ก็ย่อมไม่มีสิทธิมนุษยชนโดยปริยาย แม้มีการบัญญัติสิทธิมนุษยชนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การบังคับใช้อยู่ที่องค์กรอิสระกับศาล ซึ่งต้องมีความเป็นนกลางและเที่ยงธรรม แต่ล้วนไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะถูกแต่งตั้งมาโดยผู้กุมอำนาจรัฐปัจจุบัน จึงเห็นการต่ออายุให้กับบางองค์กรที่ทำให้ผู้มีอำนาจพอใจ และเซ็ตซีโร่องค์กรที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ ดังนั้น หากผู้มีอำนาจปัจจุบัน กลับเข้ามามีอำนาจอีกหลังการเลือกตั้ง องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญก็อาจเอื้อประโยชน์ได้

อ่านเพิ่มเติม: