ไม่พบผลการค้นหา
อดีตผู้เชี่ยวชาญอิสระของสหประชาชาติสะท้อนประเด็นที่โลกจับตามองไทย ทั้งเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีเหนือ ซึ่งอาจจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ในปีนี้

ก่อนสิ้นปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ว่าจะพิจารณาฟื้นสัมพันธ์กับไทยหลังจากที่มีการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลใหม่ ส่วนท่าทีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เพิ่งประกาศตัวว่า "ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นนักการเมือง" หลังจากก่อนหน้านี้ได้ให้คำมั่นสัญญากับสหรัฐฯ ว่าไทยจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทำให้สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่าไทยน่าจะเป็นหนึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ นอกเหนือจากกัมพูชาและมาเลเซีย 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชน ประเมินว่าท่าทีดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้กับไทย เพราะโลกกำลังรอคอยให้ไทยจัดการเลือกตั้งตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ แต่ยังมีข้อท้าทายอีกหลายประการที่ไทยจะต้อง 'ทำการบ้าน' เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

+ การเลือกตั้งในไทยมีความสำคัญอย่างไรในสายตาโลก

ถ้ามองตามหลักสากล มีข้อตกลงของสหประชาชาติที่เราไปเป็นสมาชิก มีแถลงการณ์ มีมติ มีปฏิญญาสิทธิมนุษยชนที่เราไปร่วม เพราะฉะนั้น เราเสนอตนเข้าไปแล้ว เราก็อยู่ในกระแสของโลก และเราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องนั้น แต่ประเด็นใหญ่คือการปฏิบัติในรัฐ ซึ่งก็เหมือนหลายประเทศ คือมีข้อท้าทาย 

ถ้าโลกจะมองไทย ผมคิดว่าช่วงสองสามปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน จะมองในด้านสิทธิทางการเมืองและพลเมืองเป็นหลัก ต้องทำการบ้านให้มากยิ่งขึ้น ต้องกลับสู่ประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้ง มีความหลากหลายของเวทีพรรคการเมือง และผู้ที่ใส่ 'ยูนิฟอร์ม' ที่มีบทบาทในสังคมไทย ควรเป็นบทบาทในการรักษาความมั่นคงของประเทศทั่วไป ส่วนในทางการเมืองน่าจะให้พลเรือนเขามาทำการบ้านแทน

ประเด็นใหญ่คือเรื่องสิทธิทางการเมือง ที่ตามมาก็คือการแสดงออก การรวมกลุ่ม ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งนั้นในช่วงนี้ แต่ก็หวังว่าจะร่วมกันเปิดพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น ต้องพยายามด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลบ้าง เพราะถ้ามีหลักประกันที่รัฐไม่ประกัน โลกจะเรียกร้องให้รัฐช่วยประกันแก่พลเมืองโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมของเราทำได้ดีในหลายส่วน เช่น เรื่องการศึกษา สาธารณสุข โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคในอดีต และการขจัดความยากจน เราก็ทำได้ดีพอสมควร 

000_Hkg9553522.jpg

+ แต่รัฐมักจะย้ำว่า 'สิทธิ' ต้องมาพร้อมกับ 'หน้าที่' เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย 

จริงๆ แล้วไม่มีใครเถียงว่าสิทธิมากับหน้าที่ หน้าที่ของทุกคนก็มีในทุกประเทศ เช่น ต้องจ่ายภาษี หรือจริงๆ ถ้าเป็นเด็กก็มีหน้าที่ไปโรงเรียน ไม่ใช่อยู่บนถนนแล้วไม่ไปโรงเรียน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่โลกพยายามเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ "เรียกร้องต่อรัฐ" ให้รัฐมีการประยุกต์ใช้ ให้มีกฎหมายที่ดี ให้ปฏิรูปสิ่งที่ไม่ดี ให้เอื้อต่อทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ สิ่งที่เราคำนึงถึงก็คือสิทธิมนุษยชน อาจจะไม่เหมือนกันกับสิทธิตามกฎหมายไทย เพราะว่าสิทธิมนุษยชนที่เราพูดถึงคือ "สิทธิของทุกคนในประเทศ" ในกรอบของสิทธิมนุษยชนที่มีหลักประกันตามกระแสสากล 

+ ไทยจะได้อะไรจากการทำตามข้อเรียกร้องของโลกในประเด็นสิทธิมนุษยชน 

ถ้าจะมองแนวบวก ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทย แต่ถามว่าประชาชนทั้งหมดในประเทศไทยจะได้อะไร? ก็คือได้ 'หลักประกันที่ดี' ต่อชีวิตของเรา ซึ่งจะต้องครบวงจรมากขึ้น ตามที่ผมได้พยายามประเมินอย่างเป็นกลางพอสมควรก็คือว่าเราทำได้ดีพอสมควรในเรื่องการศึกษาหรือสาธารณสุข หรือการขจัดความยากจน ทุกคนก็ชม ไปสู่เวทีโลกก็จะเห็น หรือดูในเอกสารของสหประชาชาติ หลายฝ่ายจะยกบทเรียนที่ดีในเรื่องสาธารณสุข แต่ถ้าดูกระแสของโลก ในการมองประเทศไทย ที่ขรุขระจะเป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง จะเกี่ยวกับประชาธิปไตย ซึ่งก็ไม่ได้มีรูปแบบประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะต้องเหมือนกันในโลก แต่อย่างน้อยสิ่งที่ชัดก็คือ ต้องมีการเลือกตั้ง โดยมีพรรคที่หลากหลาย เคารพเสียงของประชาชนข้างมากโดยไม่ลืมเสียงคนกลุ่มน้อยด้วย 

บริบทของเจ้าหน้าที่ก็ต้องมี ในกรอบของกระแสโลกก็คือ "พลเรือนต้องบริหารประเทศ" ถ้าพลเรือนกระทำผิดอะไรก็น่าจะต้องใช้กระบวนการตามหลักนิติธรรมที่เป็นฐานของประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่ดีๆ ก็มีเยอะ เวลาออกไปช่วยรักษาสันติภาพในกระแสโลกเราก็ได้รับความชื่นชม แต่ที่ยังติดอยู่ก็คือรอพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้นทางด้านประชาธิปไตย และการคืนเสียง คืนพื้นที่ให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น

+ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง นานาชาติหรือประเทศสมาชิก UN จะกดดันอย่างไร 

ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง หลายฝ่ายก็จะไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะว่าเรามีคำมั่นมาแล้ว ก็คงจะมีผลลัพธ์ที่ตามมา ไม่มากก็น้อย คิดว่าโจทย์ที่ต้องดูคือไม่ใช่แต่เราเท่านั้น แต่โลกเขาปฏิบัติกันอย่างไรในกระแสที่เรียกว่าศิวิไลซ์ ก็ต้องทำตามคำมั่นสัญญา ถ้าจะมองจริงๆ ในทุกประเทศก็มีส่วนที่ท้าทาย และบังเอิญประเทศไทยก็มีข้อท้าทายที่ทราบกันอยู่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นการรอคอยที่น่าจะตอบสนองให้เป็นคุณตามที่ตั้งสเป็กไว้นิดหนึ่ง สำหรับอนาคตก็คือต้องทำตามคำมั่นสัญญาที่โลกรอคอยอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของประชาธิปไตยให้เกิดด้วยดีก่อนสิ้นปีนี้

จริงๆ โลกเปิดให้ประเทศไทยอยู่แล้วในการรอคอย 'วันที่' และที่จริงก็มีการฝากไว้แล้วว่าจะต้องเป็นก่อนปลายปี ซึ่งผมเองก็หวังว่าจะไม่เลื่อนนะ อย่างกลุ่มสหภาพยุโรปก็เปิดพื้นที่ให้เรามากยิ่งขึ้นในความสัมพันธ์ อาจจะพยายามมีข้อตกลงที่เอื้อมากขึ้น หลังจากที่ชะลอในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น กระแสที่ให้ความมั่นใจและให้กำลังใจและไว้วางใจกับผู้มีอำนาจในประเทศไทย 'มีแล้ว' และ 'มากขึ้น' จากโลก เพราะฉะนั้นเราน่าจะถนอมอันนี้ไว้ และตอบอย่างเป็นคุณต่อทุกคน ซึ่งพื้นฐานที่สุดก็ต้องเป็นประโยชน์ที่ดีต่อประชาชนในประเทศไทยทั้งหมด  

+ ปีนี้ประชาคมโลกและสหประชาชาติมุ่งความสนใจไปที่เกาหลีเหนือ ซึ่งทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ต่อเนื่อง และไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือ จะได้รับผลกระทบหรือไม่

เกาหลีเหนือเป็นเรื่องที่เราต้องมองแบบพหุภาค ก็คือทั้งโลกเกี่ยวข้อง แต่ว่าประเด็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาคือระบอบในเกาหลีเหนือเป็นระบอบที่เคร่งครัดมาก เป็นระบอบที่โลกก็ทราบว่าเผด็จการอย่างยิ่ง ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่งในหลายส่วน เช่น ประหารคน มีค่ายกักขังคนให้ทำงาน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่ผมทำงาน 6 ปี ในฐานะผู้ชำนาญการพิเศษของสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2004-2010 เป็นการประเมินเพื่อเรียกร้องสิทธิแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบ เรียกร้องแทนหญิงและชายที่ถูกจำคุก ถูกกระทำทารุณด้านมนุษยธรรม หรือเด็กเกาหลีที่ไม่มีข้าวกิน เพราะรัฐบาลเกาหลีเหนือใช้งบไปทำอาวุธนิวเคลียร์ แทนที่จะมาพัฒนาประชาชน

แต่อยากจะแยกออกไปอีกนิดหนึ่ง ในเรื่องของการทดลองและสร้างอาวุธนิวเคลียร์ อันนั้นเป็นเรื่องที่โลกตระหนัก และในเรื่องที่แซงก์ชัน (คว่ำบาตร) ก็จะเกี่ยวกับเรื่องที่สอง เราไม่เคยมีแซงก์ชันในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากพหุภาคหรือสหประชาชาติ เรามีแต่การเรียกร้องให้เขามีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นผู้นำ แต่พอไปถึงกรอบที่เป็นเรื่องนิวเคลียร์ มีมติโดยเฉพาะจากองค์กรสูงสุดของสหประชาชาติ ซึ่งก็คือคณะมนตรีความมั่นคง (UNSC) มีมติออกมาว่าห้ามค้าขายกับเกาหลีเหนือ ห้ามซื้อ ห้ามโอนน้ำมันเข้า ซึ่งอันนี้กระทบทุกประเทศ เพราะมติของ UNSC ผูกมัดทุกประเทศ มีการตรวจสอบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างมาก เราต้องทำตามมติของยูเอ็นเอสซี

แต่ไทยก็มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง (กับเกาหลีเหนือ) อยู่เยอะ ซึ่งความสัมพันธ์อันดีก็จะทำให้ดำเนินต่อเนื่องไปก็ได้ เพราะความสัมพันธ์มีหลายลำดับ แต่เมื่อมีมติของยูเอ็นเอสซีออกมาก็ต้องปฏิบัติตาม อย่างตอนนี้การค้าขายหลายส่วนก็ห้าม เช่น ถ่านหิน หรืออาวุธ หรือห้ามส่งบรั่นดีเข้าไป เพราะจะไปเกี่ยวข้องกับบางกลุ่มที่ได้อภิสิทธิ์พิเศษ อันนี้เราก็ต้องทำตาม 

(ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ เป็นบุคคลแรกของโลกที่ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญอิสระของสหประชาชาติเรื่องการคุ้มครอง ปกป้อง จากความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ ว่าด้วยทางเลือกทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (SOGI) ทั้งยังเคยเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือ ไอวอรีโคสต์ และซีเรีย ปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)