ไม่พบผลการค้นหา
หลังการพิจารณาความเป็นไปได้และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ อยู่หลายเดือน ล่าสุดญี่ปุ่นยังคงยืนยันที่จะไม่ร่วมลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงกับไทย แต่พร้อมให้กู้เงินเพื่อใช้ลงทุน

สำนักข่าว Straits Times ของสิงคโปร์รายงานโดยอ้างจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ของไทย ว่าตัวแทนจากรัฐบาลไทย นำโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนภาครัฐของประเทศญี่ปุ่น นำโดยนายโนริโยชิ ยามากามิ ผู้แทนจากกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น หลังจากที่มีการเจรจาถึงความพร้อมและการทบทวนเรื่องการเข้ามาลงทุนของรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ - เชียงใหม่ ระยะทางทั้งสิ้น 670 กิโลเมตร 12 สถานี ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมงเต็ม ด้วยความเร็วในการเดินรถ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าราคาบัตรโดยสารน่าจะอยู่ที่ประมาณเที่ยวละ 1,200 บาทต่อคน 

หลังจากพิจารณาเรื่องของความคุ้มทุน ปัจจัยของสภาวะเศรษฐกิจ และองค์ประกอบโดยรวม ผลปรากฏว่าญี่ปุ่นขอปฏิเสธที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในการสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ - เชียงใหม่กับรัฐบาลไทย และยืนยันที่จะให้ไทยเป็นผู้ลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้แต่เพียงผู้เดียว โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นยินดีที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยวิธีการให้ทางการไทยกู้ยืมเงิน แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามมาโดยตลอดคือการลดปริมาณการกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศ ด้วยการหาผู้ร่วมลงทุนแทน อย่างไรก็ตาม เมื่อการร่วมลงทุนไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่ทางรัฐบาลไทยจะทำได้คือการเจรจาเพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้

ตามข้อมูลจากศึกษารายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงของทางการญี่ปุ่นระบุว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะต้องใช้งบประมาณในการสร้างราว 420,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาด้วยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแผนที่จะเสนอขอลดความเร็วของรถไฟให้เหลือเพียง 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การศึกษาชี้ว่าจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าอย่างยิ่งที่จะสร้างรถไฟความเร็วปานกลางด้วยต้นทุนที่สูงขนาดนี้ 

ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าการสร้างรถไฟครั้งนี้จะยึดความเร็วสูงสุดตามเดิม คือ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่ากับรถไฟชิงกันเซ็งของญี่ปุ่น ซึ่งนายอาคมระบุว่าก่อนหน้านี้เคยเสนอแนะวิธีการลดต้นทุนด้วยการตัดสถานีบางสถานีออกแทนการลดความเร็วของรถไฟ แต่ทางการญี่ปุ่นยืนยันว่าการลดจำนวนสถานีจะไม่ส่งผลดี เพราะตลอดสายมีเพียงแค่ 12 สถานีเท่านั้น การลดจำนวนสถานียิ่งส่งผลให้ผู้ที่จะใช้บริการโดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ใกล้กับสถานีลดจำนวนลงตามไปด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และการเจรจาจะยังคงดำเนินต่อไป โดยจะมีการพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเพื่อหารือทางออกเร็วๆ นี้อีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงิน 276,000 ล้านบาท ว่าคณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่นได้รายงานผลการศึกษาและความสำคัญของโครงการฯ โดยเน้นการพิจารณา 3 ประเด็นหลัก

หนึ่ง เรื่องต้นทุนของโครงการ คณะทำงานของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้พิจารณาถึงความจำเป็น เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง อาทิ ในเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก อาจจะมีการตัดสถานีพิจิตร และสถานีลพบุรีออกไป แต่ทั้งนี้ ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบถึงความคุ้มค่า เนื่องจากจะส่งผลทำให้จำนวนผู้โดยสารหายไปด้วย 

สอง ความเร็วของรถไฟ รัฐมนตรีคมนาคมยืนยันว่าจะยังคงใช้ระบบและเทคโนโลยีของรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นที่ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของญี่ปุ่น เนื่องจากหากความเร็วต่ำกว่านี้ ประชาชนส่วนใหญ่จะเลือกใช้การเดินทางรูปแบบอื่น อีกทั้งจากรายงานการศึกษายังระบุอีกว่า ถ้าระยะทาง 500 กิโลเมตร การเดินทางโดยรถยนต์จะเกิดความคุ้มค่า และหากเป็นรถไฟความเร็วสูงควรมีระยะทางมากกว่า 500 กิโลเมตร และจุดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 749 กิโลเมตร 

สาม สร้างความเชื่อมโยง (connectivity) การก่อสร้างต้องคำนึงถึงการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีการคาดการณ์การเดินทางของประชาชนจีนสูง ด้วยเหตุนี้จึงเสนอให้พิจารณาความเชื่อมโยงฝั่งตะวันออก-ตะวันตก ในเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร ที่เชื่อว่าในอนาคตจะมีศักยภาพอย่างแน่นอน โดยทางญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยทำการศึกษาในเส้นทางบ้านไผ่-นครสวรรค์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ศึกษาในเส้นทางนครสวรรค์-แม่สอด 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางของโครงการและบริเวณสถานีถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้โครงการมีความคุ้มค่าสูงสุด ซึ่งหากเน้นเฉพาะการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถไฟความเร็วสูง จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (IRR) อยู่ที่ประมาณ 7% และถ้ามีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว จะอยู่ที่ประมาณ 14%

"สำหรับเรื่องการลงทุน อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อหาแหล่งเงินทุนของโครงการ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะเป็นรูปแบบของการร่วมทุนทั้งโครงการระหว่างไทยและญี่ปุ่น" นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะต้องมีการหารือร่วมกับญี่ปุ่นอีกครั้ง และเตรียมเสนอความเป็นได้ของโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน มี.ค.นี้