ไม่พบผลการค้นหา
ดีป้า เผยผลสำรวจพฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ของเด็กไทยพบใช้เวลาท่องอินเทอร์เน็ต 35 ชม./ สัปดาห์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชม. ทำให้เสี่ยงต่อภัยออนไลน์ถึง 60 เปอร์เซนต์

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยรายละเอียดของ The 2018 DQ Impact Study ซึ่งถูกจัดทำขึ้นในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม ปี 2560 จากความร่วมมือกันของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และ DQ institute ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างของเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุ ระหว่าง 8 - 12 ปี จำนวน 1,300 คน ทั่วประเทศผ่านแบบสำรวจออนไลน์ DQ Screen Time Test ชุดเดียวกันกับเด็กประเทศอื่นๆ รวมกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกทั้งสิ้น 37,967 คน โดย WEF Global press release ได้เผยแพร่งานวิจัยระดับโลกในเรื่องพลเมืองดิจิทัลของโลกนี้มีสาระสำคัญว่าเด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงภัยจากออนไลน์ถึง 60 เปอร์เซนต์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 56 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่าฟิลิปปินส์ 73 เปอร์เซนต์, อินโดนีเซีย 71 เปอร์เซนต์, เวียดนาม 68 เปอร์เซนต์, และสิงคโปร์ 54 เปอร์เซนต์

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า การเติบโตที่รวดเร็วของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในมือถือ ตามมาติดๆ กับความรวดเร็วของการรับสื่อ จึงทำให้ยากที่เด็กจะคัดกรองหรือแยกแยะเนื้อหาที่สร้างสรรค์และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกจากกันได้ จากรายงานดังกล่าวพบว่าเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเทอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง นับว่าเป็นสถิติที่สูงไม่น้อย โดยแบ่งเป็นเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด 73 เปอร์เซนต์ และรองลงมาคือคอมพิวเตอร์โรงเรียน 48 เปอร์เซนต์ ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ต นำมาซึ่งปัญหาที่กำลังเริ่ม "ใหญ่" มากขึ้น ถึงสื่ออินเทอร์เน็ตจะมีข้อดีอยู่มากมาย แต่ก็มีหลายข้อที่น่ากังวลเช่นกัน เพราะเด็กที่อยู่กับสื่อมากๆ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อสติปัญญาและวุฒิภาวะทางอารมณ์

ภัยออนไลน์หรือปัญหาจากการใช้ชีวิตดิจิทัลของเด็กไทยที่พบมากที่สุดคือ 4 ประเภท คือ 

1. Cyber bullying 49 เปอร์เซนต์

2. การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ 19 เปอร์เซนต์

3. ติดเกม 12 เปอร์เซนต์

4. ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า 7 เปอร์เซนต์

น่าเป็นห่วงว่าค่าเฉลี่ยของ Cyber bullying ของเด็กไทยยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 47 เปอร์เซนต์ ดังนั้น Cyberbullying ที่พอจำกัดความได้ว่า เป็นการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การด่าทอกันด้วยข้อความหยาบคาย การตัดต่อภาพ สร้างข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการตั้งกลุ่มออนไลน์กีดกันเพื่อนออกจากกลุ่ม ฯลฯ เหล่านี้กำลังเป็นอีกผลิตผลจากอินเทอร์เน็ต ที่เป็นปัญหาซึมลึกส่งผลต่อปัญหาสังคมไทย ปรากฏให้เห็นและเริ่มทวีความรุนแรงมากในเวลานี้ประเด็นความกังวลเหล่านี้ จะถูกแก้ไขได้ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันของทั้งภาครัฐและเอกชนจนพัฒนากลายเป็นการป้องกันเชิงรุกเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กไว้ต่อสู้กับการกลั่นแกล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กิจกรรมที่เด็กไทยนิยมใช้เมื่อเข้าอินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การดูวีดิโอออนไลน์ 73 เปอร์เซนต์, การค้นหาข้อมูล 58 เปอร์เซนต์, การฟังเพลง 56 เปอร์เซนต์, การเล่นเกม 52 เปอร์เซนต์ และการรับส่งอีเมลหรือแชทข้อความผ่านแอพลิเคชั่นบนมือถือ 42 เปอร์เซนต์ 

นอกจากนี้ พบว่าเด็กไทยใช้โซเชียลมีเดียถึง 98 เปอร์เซนต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 12 เปอร์เซนต์ และในจำนวนนี้มีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ (Highly Active User) มากถึง 50 เปอร์เซนต์ เช่น โพสรูป โพสคอมเมนต์ ซื้อหรือขายของออนไลน์ 

สำหรับโซเชียลมีเดียที่เด็กไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ YouTube 77 เปอร์เซนต์, Facebook 76 เปอร์เซนต์, Line 61 เปอร์เซนต์, Instagram 24 เปอร์เซนต์, Twitter 12 เปอร์เซนต์ และ Snapchat 4 เปอร์เซนต์

แม้ว่าจากผลสำรวจข้างต้นในส่วนของครู 214 คน พบว่า ยังมีสัดส่วนของคุณครูจำนวน 21 คนไม่สามารถสังเกตถึงภัยออนไลน์ Cyber bullying ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่น่ายินดีว่าครูมีการตื่นตัวที่จะให้ความรู้เรื่องทักษะชีวิตในโลกยุคดิจิทัล หรือ พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) โดยเห็นความสำคัญของหลักสูตรพลเมืองดิจิทัลว่าควรมีอยู่ในบทเรียนถึง 88 เปอร์เซนต์