ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าหน้าที่ในกรุงโรมปล่อยเหยี่ยวเข้าสู่เขตเมือง เพื่อขับไล่นกกิ้งโครงออกจากพื้นที่ หลังสร้างความเดือดร้อนมาเกืิอบศตวรรษ

นกกิ้งโครงกว่า 10 ล้านตัว จะอพยพมายังกรุงโรมในช่วงปลายของฤดูใบไม้ร่วง เพื่อหลบหนีสภาพภูมิอากาศเลวร้ายของหน้าหนาวที่ใกล้เข้ามา ซึ่งปริมาณนกชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นจนสร้างปัญหาให้กับกรุงโรมมาตั้งแต่ปี 1920

โรมประสบปัญหาเพราะอุณภูมิในเมืองใหญ่เป็นสิ่งที่นกกิ้งโครงชื่นชอบ เพราะวิถีชีวิตและสิ่งปลูกสร้างของเมืองหลวงสามารถสร้างอุณภูมิที่อบอุ่นกว่าในเขตชนบท รวมถึงมีปริมาณนักล่าที่น้อยกว่า 

แม้ภาพนกกิ้งโครงฝูงใหญ่ที่บินเหนือท้องฟ้าท่ามกลางสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่จะเปรียบได้กับฉากในฝันของช่างภาพและจิตรกร แต่นกอพยพฝูงนี้สร้างปัญหาตามมาให้กลับเมืองไม่น้อย 

มูลของนกกิ้งโครงสร้างความสกปรกไปทั่วเมือง ตั้งแต่กำแพง บ้านเรือน ถนนหนทาง และยังทำให้ระบบนิเวศของเมืองผิดเพี้ยน เพราะแม่น้ำเริ่มเน่าเสียเมื่อต้องรองรับมูลจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลให้ผู้คนต้องกางร่มเวลาสัญจรไปมาตลอดเวลา เพื่อป้องกันตนเองจากการขับถ่ายของนกชนิดนี้

Starling Rome2 .jpg
  • นกกิ้งโครงฝูงใหญ่บินเหนือกรุงโรม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถนนส่วนหนึ่งของกรุงโรมที่ตีขนานไปกับแม่น้ำไทเบอร์ถูกห้ามสัญจร เหตุจากจำนวนอุจจาระที่มากเกินไป ซึ่งของเหลวที่ทั้งหนืดและลื่นอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก 

เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าหน้าที่นำทีม ผู้ฝึกเหยี่ยว (Falconers) เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการนำนักล่าแห่งท้องฟ้าขับไล่นกกิ้งโครงออกจากรังของพวกมันซึ่งส่วนมากเป็นต้นไม้ที่เรียงรายอยู่ตามถนน

ก่อนหน้านี้โรมเคยให้เจ้าหน้าที่ออกมาใช้เครื่องขยายเสียงที่อัดเสียงร้องเวลาเตือนภัยของนกกิ้งโครง ปล่อยออกมาในระดับที่ดังกว่าต้นกำเนิด 100 เท่า แต่กระบวนการนี้ทำให้นกทิ้งรังและบินไปรวมกันบนฟ้าได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และเมืองยังคงประสบปัญหาเดิมอย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเหยี่ยวจะสามารถสร้างความหวาดกลัวแก่นกกิ้งโครงจนอพยพออกไปจากพื้นที่ได้

สภาเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมกรุงโรมบอกว่าการใช้เหยี่ยวเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหานั้น ‘ไม่มีความโหดร้าย เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ และเป็นการใช้ธรรมชาติในการแก้ปัญหา’

ขัดแย้งกับความเห็นของ รินัลโด้ ซิโดลี ผู้จัดการด้านการสื่อสารจาก Animalisti Italiani องค์กรด้านสิทธิสัตว์จากอิตาลีที่เห็นว่าการกระทำนี้เป็นเรื่อง ‘ป่าเถื่อน’

“สภาฯ บอกว่าการใช้เหยี่ยวเพื่อแก้ปัญหานกกิ้งโครงไม่มีความโหดร้าย เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ และเป็นการใช้ธรรมชาติในการแก้ปัญหา ถ้อยคำเหล่านี้ช่างน่าละอายที่นำมาตัดสินว่าอะไรคือความโหดร้าย” ซิโดลี แสดงความไม่เห็นด้วยต่อวิธีแก้ปัญหา

นักกิจกรรมผู้นี้ยังบอกอีกว่าการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎของเทศบาลที่ห้ามมิให้ทำการปล่อยนกออกสู่ธรรมชาติ ที่สามารถยกเว้นเฉพาะสัตว์ที่ได้รับการรักษาจากศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

ความคิดริเริ่มในการใช้เหยี่ยวแก้ปัญหาการอพยพเข้าสู่ตัวเมืองของนกกิ้งโครงเกิดขึ้นในปี 2015 และนำมาซึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐหวังว่าเหยี่ยวจะสามารถขับไล่สัตว์ประเภทอื่นที่สร้างปัญหาให้กับเมืองนี้

นกนางนวลที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่งห่างจากโรมประมาณ 30 กิโลเมตร เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งนกประเภทนี้มักจะบินเข้ามาหาอาหารในบริเวณกองขยะ เช่นเดียวกับปริมาณหมูป่าที่ถูกพบบริเวณกองขยะมากขึ้น  

เหยี่ยวไม่ใช่สัตว์ประเภทเดียวที่ถูกใช้งานเพื่อแก้ปัญหาของโรม ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารเมืองที่นำโดย พรรคขบวนการห้าดาว (Five Star Movement) พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดในอิตาลี ได้เสนอให้นำแกะ หรือสัตว์กินหญ้าประเภทอื่นมาแก้ไขปัญหาหญ้ารกทึบในสวนสาธารณะ 

ที่มา:

On Being
198Article
0Video
0Blog