ไม่พบผลการค้นหา
อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรวจสอบซ้ำกรณี 'ค่าโง่ทางด่วน' 2 เส้นทาง หาผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีรัฐบาลต้องจ่ายค่าโง่ทางด่วน สายดอนเมืองโทลล์เวย์ ตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นค่าเสียหาย 1,200 ล้านบาท ในโครงการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่มีมูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท ว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเกี่ยวกับสาเหตุที่รัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,200 ล้านบาท ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีให้แก่บริษัท วอเตอร์ บาว เอจี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ โดยนายสมบัติ พานิชชีวะ ได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท วอเตอร์ บาว มาเป็นของตนเอง ตามสัญญาซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2548

ต่อมา มีมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2550 ระหว่างนายสมบัติ ในฐานะตัวแทนบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) กับกรมทางหลวง ในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ขึ้นราคาค่าผ่านทางเพิ่ม จากเดิม 43 บาทเพิ่มเป็น 100 บาท ถือเป็นการเยียวยาให้บริษัทเอกชนไปแล้ว และยังมีข้อตกลงในข้อที่ 6 ว่า บริษัทเอกชนดังกล่าวจะต้องถอนฟ้อง หรือถอนข้อพิพาทใดๆ ต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา คือ วันที่ 12 ต.ค. 2550 

แต่กลับปรากฏว่า บริษัทเอกชนดังกล่าวไม่มีการถอนคำฟ้องใดๆ ตามข้อตกลง และเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 นายสมบัติ ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทเอกชนคือ วอเตอร์ บาว เอจี ที่ตนเองได้ซื้อหุ้นไว้ทั้งหมดแล้ว โดยได้ขอให้รัฐบาลไทยต้องจ่ายเงินค่าเจรจาเพื่อจะถอนคำฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นวงเงินอีก 500 ล้านบาทให้ตนเอง โดยนายสมบัติ ระบุในเอกสารข้อเสนอในการยุติข้อพิพาทระหว่างบริษัท วอเตอร์ บาว เอจี กับรัฐบาลไทย ที่ระบุว่า “กระผมขอรับผิดชอบเอง รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินแก่กระผมภายใน 60 วันนับแต่วันที่ข้อพิพาทในทางคดีของอนุญาโตตุลาการระหว่างบริษัทวอเตอร์ บาว เอจี กับรัฐบาลไทยยุตติลง”

นอกจากนี้ ยังมีกรณีค่าโง่ค่าด่วนคดีที่สอง ซึ่งเกี่ยวพันกับคดีแรกเกิดขึ้นซ้ำอีก ที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด อีกเป็นวงเงิน 1,790 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย จากกรณีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต ที่ทำให้บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ขาดรายได้

โดยนายชาญชัย ตั้งข้อสงสัยว่า ทั้งสองกรณี บริษัทเอกชนได้อ้างสิทธิ์ในสัญญาว่า ได้รับสัมปทานจากรัฐและห้ามมิให้สร้างถนน หรือแก้ไขปัญหาการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้เลย เราจะต้องเสียค่าโง่สองเส้นทาง รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 2,990 ล้านบาท เพราะความฉ้อฉลและทุจริตของข้าราชการบางกลุ่ม จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบรื้อฟื้นเรื่องเหล่านี้ หาตัวผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่ถูกต้องย่อมเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน นำตัวมาลงโทษทั้งคดีอาญาและแพ่งโดยการยึดทรัพย์ให้เป็นของรัฐ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและต้องเสียค่าโง่ในกรณีอื่นๆ อีกต่อไป