ไม่พบผลการค้นหา
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบเหตุอุทกภัยอีก 2 จังหวัด ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สั่งปรับเกณฑ์เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำใหม่เป็นรายภาคตามสภาพภูมิอากาศ

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. – 25 ก.ย. 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 23 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 21 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง 2 จังหวัด รวม 5 อำเภอ 27 ตำบล 204 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,229 ครัวเรือน 27,513 คน ได้แก่ นครนายก และปราจีนบุรี ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรในบางพื้นที่

ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อม ได้กำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวว่า วันนี้ต่อเนื่องถึงวันที่ 27 ก.ย. ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อย โดยยังมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักใน 20 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

สำหรับ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้

ส่วนช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง

ขณะที่การติดตามเส้นทางพายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่น "จ่ามี” (TRAMI) เมื่อเวลา 04.00 น.วันนี้ พบพายุเคลื่อนตัวช้าลงจากความกดอากาศสูง หลังจากวันนี้ 1-2 วัน พายุนี้จะเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือค่อนทิศเหนือมากขึ้นเฉียดๆ ไปทางเกาะไต้หวัน แล้วขึ้นเหนือไปญี่ปุ่น โดย กรมอุตุนิยมวิทยา ได้วิเคราะห์จากตำแหน่งของศูนย์กลางพายุและอุปสรรคพายุนี้ไม่มีโอกาสจะเคลื่อนตัวมาทางตะวันตกได้ คาดว่า จะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย แต่อาจะมีผลทางอ้อมบ้างด้วยการทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีระเบียบและแน่ทิศมากขึ้นกว่าช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาที่มีทิศทางแปรปรวนยังต้องติดตามสถานการณเป็นระยะๆ ต่อไป

รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า สทนช. ให้ปรับเกณฑ์เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำใหม่เป็นรายภาคตามสภาพภูมิอากาศ โดยอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง อยู่ที่ร้อยละ 95 ส่วนภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ อยู่ที่ร้อยละ 90 ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 ให้พิจารณาส่งแผนให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร