ไม่พบผลการค้นหา
การที่ ‘อาร์เซนอล’ หนึ่งสโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก รับการสนับสนุนจาก ‘รวันดา’ หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย นำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมในการรับเงินสนับสนุน

Paul Kagame ประธานาธิบดีของของประเทศรวันดา ที่ประกาศตัวชัดเจนว่าเขาเป็นแฟนบอลของไอ้ปืนใหญ่ อาร์เซน่อล สโมสรจากเมืองลอนดอนในศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ถึงขนาดที่เคยใช้บัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว โพสต์ข้อความวิจารณ์ถึงฟอร์มการเล่นของทีมในช่วงต้นเดือน พ.ค. 2018 ที่ผ่านมาเรียกทีมอาร์เซนอลว่า "my beloved Club"








เพียงระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากการโพสต์ทวิตเตอร์ครั้งนั้น ‘คณะกรรมการพัฒนาประเทศรวันดา’ (Rwandan Development Board - RDB) ก็ได้เซ็นสัญญาเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของอาร์เซนอล ด้วยมูลค่า 30 ล้านปอนด์ แลกกับพื้นที่บนแขนขวาของชุดแข่ง ให้ประทับข้อความว่า “Visit Rwanda” ไปอีก 3 ฤดูกาลต่อจากนี้ เพื่อเป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวของประเทศรวันดา ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าทางรัฐบาลจะอ้างว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่เมื่อดูตัวเลขรายได้ต่อหัวของประชาชนแล้ว ประเทศรวันดานั้นมีรายได้ต่อหัว ต่ำเป็นอันดับ 19 ของโลก ในอีกด้านอาร์เซนอลกลับเป็นสโมสรที่ร่ำรวยเป็นอับดับ 7 ของโลก จึงทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการเงินใช้เงินของประเทศโดยไม่เกิดประโยชน์ คล้ายๆ “คนจนสนับสนุนคนรวย”

กรณีนี้ยิ่งถูกวิจารณ์หนักเข้าไปอีก เมื่อมีข้อมูลว่ารวันดาเป็นประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากประเทศฝั่งยุโรปหลายประเทศ อย่างเนเธอร์แลนด์ที่ให้เงินช่วยเหลือปีละประมาณ 44 ล้านยูโร มีนักการเมืองออกมา เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการให้เงินสนับสนุนแก่รวันดา ซึ่งก็รวมทั้ง Andrew Bridgen สมาชิกรัฐสภาของอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่จ่ายเงินช่วยเหลือรวันดาประมาณปีละประมาณ 60 ล้านปอนด์

Bridgen บอกว่าการเซ็นสัญญากับอาร์เซนอลครั้งนี้เป็น “ให้เงินการช่วยเหลือที่ทำเข้าประตูตัวเอง” ของอังกฤษ และเรียกร้องให้รัฐบาลตัดงบสนับสนุนดังกล่าว

ส่วนทาง Clare Akamanzi หัวหน้าผู้บริหารของ RDB ออกมาอธิบายว่าเงินทีใช้ไปกับการเซ็นสัญญาไม่ได้มาจากส่วนของเงินสนับสนุนจากต่างชาติ แต่เป็นเงินที่มาจากรายได้ของการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ 'Visit Rwanda' เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ลงทุนไปกับการสร้างโรงแรมหรู ศูนย์ประชุม และสายการบิน เพื่อจะส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเป็นศูนย์กลางของทวีปแอฟริกา การใช้เงินมหาศาลไปกับโครงการเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ได้นำไปสู่ผลประโยชน์ในระยะยาว อีกทั้งยังมี ความเสี่ยงต่อระบบการคลัง

สาธารณรัฐรวันดา ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกา เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองที่นำมาสู่การฆ่าล้างเผ่าพันชาวทุตซีในช่วงปลายทศวรรษที่ 20 คาดว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1 ล้านคน มีหนังสือและภาพยนตร์มากมายที่ได้เล่าถึงเหตุการณ์แสนโหดร้ายครั้งนั้น

Paul Kagame อดีตผู้นำทางทหารขึ้นสู่อำนาจในปี 2000 ในช่วงหลังสงครามกลางเมืองสงบลง และครองอำนาจมาอย่างยาวนานเหมือนกับผู้นำคนอื่นๆ อีกหลายคนในภูมิภาค เป็นเวลากว่า 18 ปี โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2017 เขาได้รับคะแนนนิยมถึงร้อยละ 98 ท่ามกลางข้อครหาว่าเป็นเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส ซึ่งเขาเคยถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกในการทำประชามาติซึ่งจะต่ออายุให้เขาสามารถเป็นประธานาธิบดีได้ถึงปี 2034 หากชนะเลือกตั้ง

ตลอด 18 เป็นของ Paul Kagame ยังเต็มไปด้วยปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีรายงานจากองค์กรด้านสิทธิหลายครั้ง ทั้งเรื่องการ จับกุมผู้คนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซ้อมทรมานและสั่งประหารชีวิตโดย "กระบวนการยุติธรรมแบบพิเศษ"

ทำให้การเซ็นสัญญากับทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกอังกฤษซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในแอฟริกา จึงถูกมองว่าเพื่อสร้างความนิยมให้กับตัว Kagame เอง Timothy Longman อาจารย์ในมหาวิทยาลัย Boston ผู้เขียนหนังสือ “Memory and Justice in Post-Genocide Rwanda” มองว่าการแคมเปญ Visit Rwanda อาจ เป็นการสร้างความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงในเมืองหลวง ที่ควบคุมอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของรวันดาอยู่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เติบโตในค่ายผู้ลี้ภัยที่อูกันดา (ที่เป็นเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ทำให้มีความใกล้ชิดกับอังกฤษ ทั้งยังใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

จึงเป็นคำถามสำหรับอาร์เซนอลผู้รับเงินสนับสนุนจากประเทศที่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ว่ามาตรฐานทางจริยธรรมในการรับเงินสนับสนุนควรอยู่ตรงไหน เหมือนกับกรณีอย่างที่ ‘บาร์เซโลนา’ รับเงินจากประเทศ ‘กาตาร์’ ที่มีกรณีปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิคนงานที่ทำงานก่อสร้างสนามเพื่อใช้ในฟุตบอลโลก 2022 หรือ ‘อาเซอร์ไบจาน’ เป็นประเทศที่ถูกปักธงเรื่องการละเมิดสิทธิ์และปัญหาคอรัปชั่น จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ให้การสนับสนุนทีม ‘อัตเลติโก มาดริด’ สิ่งที่ต่างออกไปเพียงแค่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ยากจนเหมือนกับรวันดา การรับเงินสนับสนุนลักษณะนี้จึงนำมาสู่ข้อถกเกียงว่าอะไรคือมาตรฐานทางจริยธรรมที่ควรจะเป็น

Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog