ไม่พบผลการค้นหา
ฟังคนอื่น เข้าใจประชาธิปไตย เข้าใจเรื่องสิทธิ ทันโลก ไม่คดโกง ส่วนหนึ่งของ ‘คุณสมบัติที่นายกฯ ควรมี’  ในความคิดของคนรุ่นใหม่

“สำหรับผม ผมต้องการคนที่เข้าใจความเป็นประชาธิปไตยครับ ต้องเป็นคนที่รู้จักฟัง ฟังคนรุ่นใหม่ ฟังเสียงของคนในประเทศว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากให้ประเทศดำเนินไปในทิศทางไหน เป็นคนที่ไม่คิดว่าตัวเองสามารถใช้อำนาจไปทำอะไรใครก็ได้ หรือพาประเทศไปในทิศทางไหนก็ได้ที่ตัวเองคิดว่ามันดีแล้ว อยากจะให้เป็นคนที่ยอมรับการตรวจสอบจากทุกสถาบัน ทั้งกฎหมาย สื่อ และประชาชนเองที่ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศนี้ เขาควรจะมีสิทธิที่จะได้แสดงออกความคิดเห็นของเขาต่อตัวผู้นำและโครงการต่างๆ อยากได้คนที่เปิดรับการมีส่วนร่วมของประชาชนครับ”พชร คำชำนาญ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 แลกเปลี่ยนความคิดเห็น


คนรุ่นใหม่

พชร คำชำนาญ

เมื่อถามว่าในประเทศไทยจะสามารถมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่เหมือนพรรคเดโมซิสโต (Demosistō) ของ‘โจชัว หว่อง’ ในฮ่องกงได้ไหม 'พชร' ตอบว่า อาจจะยากสำหรับบริบทในสังคมไทย

“โดยส่วนตัวเรารู้สึกว่าตั้งแต่เกิดมาเราโดนกดจากคนรุ่นเก่า มันยากมากที่คนรุ่นใหม่จะขึ้นมามีบทบาททางการเมือง การจะเกิดนักการเมืองที่จะเป็นคนรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ มันต้องไม่ใหม่แต่ตัว สมมติเราอายุ 20-30 เราอาจถูกมองเป็นคนรุ่นใหม่ก็จริง แต่เราอาจจะไม่รู้ว่าในหัวของเรามีอะไร เพราะถ้าสังคมยังกำหนดกรอบความคิดของเราอยู่ เราก็อาจจะยังเป็นคนที่มีความคิดแบบเดิม ดังนั้นนักการเมืองรุ่นใหม่ควรจะเป็นคนที่ใหม่ทั้งอายุและกระบวนการคิด”

ด้าน 'เมธาวจี สาระคุณ' นักศึกษาชั้นปีที่ 3 แลกเปลี่ยนในประเด็นเดียวกันว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่คนรุ่นใหม่ต้องให้พื้นที่คนรุ่นเก่าเยอะมาก

“เราต้องเคารพผู้ใหญ่ เราต้องให้ผู้ใหญ่ไปก่อน สุดท้ายแม้เราจะขึ้นมาจริงๆ เราก็ยังต้องฟังผู้ใหญ่เยอะมากในการตัดสินใจแต่ละอย่างของเรา มันจะมีไหมพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เสนอนโยบายเพื่อโลกใบใหม่ เพื่ออนาคต ไม่ใช่แค่เพื่อให้อดีตยังคงอยู่” เมธาวจี กล่าว


คนรุ่นใหม่

เมธาวจี สาระคุณ

ประเด็นเรื่องคนรุ่นใหม่กับการเมือง ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มีคนรุ่นใหม่เป็นผู้นำในการออกมาแสดงพลัง เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เคยแลกเปลี่ยนกับ Voice Online ในงานชุมนุมเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า


จ่านิว

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

“ผมคิดว่าท้ายที่สุด คนรุ่นใหม่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้ง เลือกผู้แทนของตัวเอง เราจะปล่อยให้คนจำนวนหนึ่งกำหนดอนาคตของเราต่อไปอีกหรือไม่ หรือเราจะเริ่มส่งเสียงเพื่อให้เรากำหนดอนาคตของตัวเอง เราจะปล่อยให้ศตวรรษที่หายไป ที่กลุ่มต่างๆ ช่วงชิงอำนาจโดยไม่ฟังเสียงของประชาชนมันดำรงต่อไปหรือเปล่า ผมคิดว่าการออกมาต่อสู้ครั้งนี้ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือคนรุ่นใหม่ หลายคนบอกว่ากลุ่มชุมนุมของเรามีแต่คนอายุมาก แต่พวกเขาก็ต่อสู้เพื่ออนาคตของคนรุ่นหลัง เขาไม่ได้พูดในฐานะคนที่เคยผ่านมาก่อน แต่เขาต้องการส่งต่ออนาคตให้คนรุ่นใหม่ มันก็อยู่ที่คนรุ่นใหม่ว่าจะปล่อยให้ป้าๆ ลุงๆ ต่อสู้โดยลำพังต่อไป และปล่อยให้เขากำหนดอนาคตของเราโดยที่เราก็ไม่รู้ทิศทางของเราหรือไม่ ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ติดอยู่ในลูปว่าเราไม่รู้ทิศทางของประเทศ ผมคิดว่าถ้าเราไม่รู้ทิศทาง เราก็ต้องออกมากำหนดอนาคตของเราเอง”