ไม่พบผลการค้นหา
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก แจง หากวินมอเตอร์ไซค์คิดค่าโดยสารเกินราคากลาง ประชาชนร้องเรียนได้ตามกฎหมาย เตรียมทำแอปพลิเคชั่นแก้ปัญหา แกร็บไบค์-วินมอเตอร์ไซค์

นายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เผย กรมฯมีแผนจัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับการเรียกใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อความสะดวกสบาย และราคาที่เที่ยงธรรม แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนในปัจจุบัน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือระหว่างตำรวจ ทหาร กรมการขนส่งทางบก และผู้ประกอบการเอกชน รวมทั้งการรวบรวมฐานข้อมูลวินมอเตอร์ไซค์ทั่วประเทศ และวางแผนให้ความรู้ผู้ให้บริการ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้จริงภายในสิ้นปีนี้

จงรัก รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก.JPG

ทั้งนี้ นายจงรัก ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีประชาชนและผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างร้องเรียนเรื่องการกระทำความผิดของผู้ให้บริการผ่านสายด่วน 1584 เป็นจำนวนมาก ซึ่งจำแนกการกระทำความผิดของผู้ให้บริการเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • แกร็บไบค์ ที่ใช้รถส่วนบุคคลมารับจ้าง ไม่ใช่รถป้ายเหลือง ถือเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 23/1 ในพระราชบัญญัติรถยนต์ 2522 ต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทโดยตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ปกครองของกรมการขนส่งทางบก, หรือกรณีผู้ให้บริการไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ เป็นความผิดทางอาญา ที่ต้องนำความขึ้นสู่ศาลให้พิจารณา โดยโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ต้องคิดอัตราค่าโดยสารตามกฎกระทรวง ในการกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ.2559 คือ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ราคา 25 บาท ระยะทาง 2 - 5 กิโลเมตร กิโลเมตรละ 5 บาท ระยะทาง 5 - 15 กิโลเมตร กิโลเมตรละ 10 บาท ระยะทางเกิน 15 กิโลเมตร แล้วแต่การตกลงกัน แต่หากมอเตอร์ไซค์รับจ้างคิดราคาเกินจริง หรือเกินกว่าราคามาตรฐานกลางโดยประมาณมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ

นายจงรัก กล่าวเพิ่มเติมว่า การต่อรองราคาระหว่างผูั้ใช้บริการกับผู้ให้บริการสามารถทำได้ หากระยะทางไม่ชัดเจน แต่ไม่สามารถอ้างเส้นทางการขับขี่กลับจากจุดส่งผู้โดยสารมาที่วิน เพื่อเพิ่มราคา ทั้งนี้ หากไม่มีการต่อรองราคาก่อนขึ้นรถ ต้องคิดราคาตามมาตรฐานกลาง อย่างไรก็ตาม การร้องเรียนจากประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขและปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการ เนื่องจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุก แต่ต้องได้รับการร้องเรียนจากเจ้าทุกข์ก่อน ขณะเดียวกันยังย้ำว่า ประชาชนควรใช้บริการกับผู้ให้บริการที่มีใบอนุญาต และมีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้กรมการขนส่งทางบก และเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และประชาชนได้อย่างทั่วถึง