ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข เผยปีนี้ (61) พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแล้วกว่า 30,000 คน ร้อยละ 98 เป็นเด็กเล็กและเด็กนักเรียน แนวโน้มพบเพิ่มขึ้นช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปี มักพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปากมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ก.ค. 2561 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า และปาก 33,199 คน อัตราป่วยสูงสุดคือภาคกลาง รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยร้อยละ 98 เป็นเด็กเล็กในปกครองและเด็กนักเรียน

ในจำนวนนี้เกือบร้อยละ 68 เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ให้ครูและผู้ปกครอง มีความรู้ในการป้องกันโรค โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ขอให้คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียน หากพบว่ามีไข้ มีตุ่มแดงภายในช่องปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย ป้องกันการแพร่เชื้อ และทำความสะอาด ห้องเรียน ของเล่น ที่นอน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องเล่นภายในโรงเรียน 

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส ผู้ป่วยจะมีไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก ที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเกิดผื่นแดง ตุ่มพองใสรอบ ๆ จุดแดงที่บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือและเท้า โรคนี้รักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ กระตุ้นให้รับประทานอาหารเหลว น้ำหวาน ไอศกรีม ให้ยาทาแผลในปาก ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงและหายป่วยเองภายในเวลา 7-10 วัน ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มีการติดเชื้อเข้าสู่สมองและเสียชีวิตได้ จึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยง หมั่นสังเกตอาการของเด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปาก หากป่วย 2-3 วันแล้ว อาการแย่ลงคือไข้สูงขึ้น และมีอาการเหม่อตาลอย ผวา ชัก หรือซึมลง ให้รีบพบแพทย์ทันที