ไม่พบผลการค้นหา
ขาดความคิดสร้างสรรค์ รู้สึกเหมือนซังกะตาย และทำงานแบบเอาตัวรอดไปวันๆ ทั้งหมดล้วนเป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่า ‘คุณกำลังตกอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน’ ซึ่งต้นเหตุมาจากการทำงานหนักห้ามรุ่งห้ามค่ำ โดยไม่นึกถึงขีดจำกัดของตัวเอง และมันอาจทวีความรุนแรงจนสุดท้ายกลายเป็น ‘โรคซึมเศร้า’

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายแพทย์กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล หรือ หมอแดน จิตแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ เปิดเผยสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของคนไทยให้วอยซ์ออนไลน์ฟังว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ามาปรึกษาเรื่อง ‘ความเครียดจากการทำงาน’ และ ‘ภาวะหมดไฟ’ เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาด้วยอาการนอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด และแปรปรวนง่าย

“หลังจากซักประวัติคนไข้ให้ละเอียดพบว่า คนไข้จำนวนหนึ่งกำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งหากมองแบบผิวเผินจะคล้ายๆ กับมีอาการของโรคซึมเศร้าผสมอยู่ อาจดูเหมือนไม่รุนแรงมากนัก แต่มันสามารถทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นผลเสียกับสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิต”

หมอแดนเล่าต่อว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของภาวะหมดไฟในการทำงานมาจากการทำงานที่ค่อนข้างหนัก โดยต้นตอของปัญหาหลักๆ มาจาก ‘การบริหารจัดการชีวิตไม่เป็น’ บางคนทำงานแล้วรู้สึกตัวเองมีคุณค่า แต่เมื่อใดก็ตามที่ทำงานจนเยอะเกินไป ปฏิเสธไม่เป็น หรือหลงใหลไปกับคำชื่นชม จนไม่คำนึงถึงขีดจำกัดของร่างกายตัวเอง สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นความเครียดสะสม


_P3A1783.jpg

- นายแพทย์กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวชศรี นครินทร์

ประโยคหนึ่งที่หมอแดนมักพูดกับคนไข้เสมอๆ คือ “เวลาคุณเจ็บป่วยทางกาย สมมติใส้ติ่งแตกคุณจะไปโรงพยาบาลไหม? ทุกคนบอกตรงกันว่า ไปแน่นอน แต่หากคุณรู้สึกแย่ และไม่มีความสุขในชีวิตการทำงานจะหยุดพักผ่อนไหม? ทุกคนมักหยวนๆ ไปก่อน นั่นแสดงให้เห็นว่า หลายคนกำลังให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตน้อยกว่าสุขภาพกาย”

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สุขภาพจิตก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าสุขภาพกาย เพราะหากดูแลสุขภาพจิตไม่ดี หรือบริหารชีวิตไม่เป็น จะทำให้สุขภาพกายแย่ลงตามไปด้วย

ดังนั้น หมอแดนเน้นย้ำว่า สำหรับคนที่เป็นมนุษย์ทำงานทั้งเอกชน และราชการ อาการจำพวกออฟฟิศซินโดรม หรือไมเกรน เป็นอาการร่วมที่น่ากลัวน้อยกว่า ‘เบิร์นเอาท์ ซินโดรม’ (Burnout Syndrome) หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่มีกำลังใจ เริ่มเก็บตัว ซึ่งหากไม่รีบหาทางรักษาก็จะก้าวเข้าสู่การเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด

“ผู้ป่วยหลายคนที่มาพบหมอมักไม่ทราบสาเหตุของภาวะหมดไฟ แต่มักมีอาการนอนไม่หลับ ซึ่งหมอทางกายอาจจ่ายยานอนหลับให้ทาน แต่หากมาพบจิตแพทย์เราต้องทำการซักประวัติย้อนหลังจนทราบต้นต่อของปัญหา คือหมอเคยเจอบางรายอาการหนักมาก เพราะเขาหลงใหลกับคำชื่นชมของเจ้านาย โดยไม่รู้จริงๆ ว่ากำลังโดนหลอกใช้ จึงต้องถอยหลังออกมาตั้งหลักดีๆ เพราะบางครั้งตัวเจ้านายเองก็หลอกใช้ในแบบไม่รู้ตัว” หมอแดนอธิบาย

ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยบางรายที่อาการหนักก็จำเป็นต้องใช้ยาเข้ามาช่วย แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเพียง 1-2 เม็ด มันไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาชีวิตทั้งหมด สิ่งที่ต้องทำประกอบกันไปคือ ‘จิตบำบัด’ การให้คำแนะนำ การให้คำปรึกษา บางรายเมื่อภาวะทางอารมณ์ดีขึ้นเราจะเริ่มสอนวิธีการปฏิเสธ วิธีสร้างสมาธิ และการบริหารจัดการงาน

ขณะเดียวกับสังคมรอบข้างต้องเข้าใจผู้ป่วยด้วย โดยหมอแดนแนะนำให้ทุกคนที่อยู่กับภาวะหมดไฟลองคุยกับเจ้านายตรงๆ และพยายามอย่าคิดแทนคนอื่น เพื่อเป็นการพิสูจน์ใจของเจ้านาย เนื่องจากลูกน้องทุกคนล้วนมีขอบเขต และขีดความสามารถจำกัด

อีกสิ่งหนึ่งที่หมอแดนมักจะแนะนำ และถามผู้ป่วยอยู่เสมอคือ “คุณมีวันลาหรือเปล่า” หรือ “คุณมีวันลาเหลืออีกกี่วัน” ถ้ามีก็รีบไปใช้วันลาซะ เพราะคนไข้หลายคนหลังจากได้หยุดพักผ่อน พอกลับมาเจอหมออีกรอบปรากฏว่า หน้าตาแจ่มใจขึ้นมากเลย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากยา แต่อีกส่วนหนึ่งอยู่ตรงการใช้วันหยุดพักผ่อน

“การทำงานทั้งในระบบเอกชน และราชการ ส่วนใหญ่มักกำหนดวันลาหยุดให้อยู่แล้ว สิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญคือ การกลับไปบริหารจัดการวันลาหยุดของตัวเอง เพราะถ้าบริหารจัดการได้ดี วันลาพักร้อนก็จะเป็นการหยุดไปพักผ่อน ออกเดินทางท่ิงเที่ยว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่บริหารจัดการได้ไม่ดี วันลาพักร้อนก็จะกลายเป็นวันลาป่วยแทน” หมอแดนกล่าวทิ้งท้าย